วันที่ 4 ส.ค.66 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมความพร้อมจัด 2 งานใหญ่ โชว์ศักยภาพผลงานด้านวิทยาศาสตร์ ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566” กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ภายใต้แนวคิด “For Bright and Creative Generations” ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะ เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน พร้อมอีกหนึ่งงานใหญ่ กับงาน “เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2566 : TechnoMart 2023” ร่วมชมผลงานและผลิตภัณฑ์ของกระทรวง อว. และภาคีเครือข่าย ภายใต้ BCG Model ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการให้สูงขึ้นตอบโจทย์พัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมยุคใหม่
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เผยว่า กระทรวง อว. โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ดำเนินการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ประจำปี 2566 2 แห่งได้แก่ วันที่ 11 -20 สิงหาคม 2566 เวลา 9.00 -19 00 น. ณ อาคาร 9-11 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และวันที่ 17-20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 -20.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ซึ่งถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีในช่วงเดือนสิงหาคม จากความร่วมมือ 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก สาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศญี่ปุ่น ประเทศมาเลเซีย ราชอาณาจักรสวีเดน และไทย รวม 110 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมโชว์ผลงานและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมมากมาย เพื่อช่วยส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทุกช่วงวัยได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับงานมหกรรมวิทย์ฯ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีนิทรรศการที่น่าสนใจในปีนี้ได้แก่ นิทรรศการ ลับ ลวง ล่า พฤกษามรณะ (Deadly Traps) รวมพืชผู้ล่าหายากจากทั่วโลกมาไว้ในงานฯ พาคุณไปหาคำตอบ และเดินเข้าสู่ดินแดนลึกลับ ของวัฏจักรอันน่าพิศวงของพืช, นิทรรศการ ฉัน เฉิด ฉาย (Beauty and Me) นิทรรศการที่ทำให้ผู้เข้าชมการเข้าใจความงามด้วยวิทยาศาสตร์ เพื่อต่อยอดไปสู่ STEAM Career ซึ่งจะไขความลับแห่งการย้อนวัยและความลับแห่งความงาม, นิทรรศการ “สู่สูญพันธุ์ : On the Edge of Extinction” ชมตัวอย่างสัตว์ที่สูญพันธุ์หรือเชื่อว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วหลากหลายชนิด อาทิ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย เนื้อสมัน กูปรี ปลาฉนากยักษ์ ปลาหางไหม้ไทย หอยเสียมพิษณุโลก นับได้ว่าเป็นนิทรรศการที่นำสิ่งมีชีวิตและสัตว์สตัฟฟ์ที่อาจไม่มีใครได้เห็นตัวจริงมารวมกันมากที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยมีมา นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุกสนาน อาทิ กิจกรรมแป้งพิมพ์สีธรรมชาติ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการสาธิตทำบอลยาง จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กิจกรรมห้องทดลองวิทยาศาสตร์ , กิจกรรมการประกวดแข่งขันและแสดงผลงานสำหรับเยาวชน รวมทั้งกิจกรรมอบรมสัมมนาและเสวนาทางวิชาการกว่า 15 หัวข้อ
ส่วนงานมหกรรมวิทย์ฯ ในเมือง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดเต็มไปกับนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ โซน Spectrum of Reaction: ARTificial intelligence (AI) ศาสตร์-ศิลป์-สร้าง-สรรค์ เรียนรู้ AI Generated ปัญญาประดิษฐ์ ความสร้างสรรค์ หัวใจโลกแห่งอนาคต กิจกรรม AI Workshop: “Mid Journey” ชวนมาทดลองปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถวาดภาพประกอบได้ตามคำสั่งที่เราป้อนคีย์เวิร์ดลงไป พร้อมปรินท์ผลงานกลับบ้าน และโซน Spectrum of Mind: Science Talk เวทีเสวนาที่เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลาย อาทิ เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ ในหัวข้อ “ศิลปะไทยร่วมสมัยคว้าเงินล้านจาก NFT” พชร ธารากิจ ในหัวข้อ “Game Designer ผู้คิดค้นรูปแบบและพัฒนาเกมส์, ตีตี้ ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ ในหัวข้อ “ถ่ายสตรีทให้เป็นวิทยาศาสตร์” โซน Spectrum of Vision: Science Photography Exhibition นิทรรศการภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์ และโซน Spectrum of Show: Outdoor Activities พบกับกิจกรรมแสนสนุกบริเวรลานหน้าหอศิลป สามารถร่วมทำเวิร์กช้อปวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ ดื่มด่ำกับเสียงเพลงจากวงดนตรีแนวอินดี้ ซึ่งงานนี้จะทำให้ทุกช่วงวัย ได้ค้นหาคำตอบ พร้อมหาความรู้ ที่สนุก และสามารถดึงไอเดียใหม่ ๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
ด้าน นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว. กำหนดจัดงาน “เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2566 : TechnoMart 2023” ขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 สิงหาคม 2566 ณ อาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่แสดงถึงศักยภาพของคนไทยมาจัดแสดงให้ประชาชนได้เห็นเพื่อให้มีการซื้อขายกัน รวมถึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เจอกับนักวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งกันและกัน เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG Model และหวังเป็นอย่างยิ่งให้ผลงานวิจัยทั้งหมดนี้ได้มีการพัฒนาต่อยอดออกมาสู่สังคมได้มากยิ่งขึ้นต่อไป โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการผลงานของ อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ BCG Model โดยแบ่งออกเป็น 4 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1) เกษตรและอาหาร 2) สุขภาพและการแพทย์ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว กิจกรรมส่งเสริมทดลองการตลาด โดยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ได้รับการพัฒนา หรือ สนับสนุน โดย อว. หรือหน่วยงานเครือข่าย การเจรจาธุรกิจ การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ด้วย วทน. การแสดงผลงานเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตและบริการ สาธิตการฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ ผ่านกิจกรรม Work Shop ตลอดจนโครงการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและผลงานวิจัยพัฒนาเชิงสังคมของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
สำหรับผู้สนใจอยากเที่ยวชมทั้ง 2 งาน สามารถเที่ยวชมงานฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสอบถามข้อมูลการจองเข้าชมงานแบบหมู่คณะ ได้ที่ โทร 0-2577-9960 หรือติดตามรายละเอียดของงานและสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางออนไลน์ภายในงานเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook : NSTFair Thailand และ Facebook Fanpage : TechnoMart-TH