กรณี “พรรคเพื่อไทย” ประกาศฉีก MOU สลัด “พรรคก้าวไกล” พ้นขั้วการจัดตั้งรัฐบาล หลังเสนอให้ก้าวไกลถอยกรณีแก้ ม.112 เพื่อเปิดทางโหวตนายกฯ รอบ 3 เพราะห่วงการสนับสนุนจาก สส.และสว. แต่ก้าวไกล ไม่ถอยจึงต้องถอยจับขั้วเอง จนนำมาซึ่งความเดือดดาลของประชาชนบางส่วน แฮชแท็ก “เพื่อไทยการละคร” พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์

รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 3 ส.ค. 66 “แคน อติรุจ” ดำเนินรายการแทน “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ม.รังสิต / อดีต กกต. มาพร้อม รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกันวิเคราะห์เรื่องการเมือง

การตัดสินใจฉีก MOU คิดว่าเกินความคาดหมายมั้ย?

สมชัย :  มันเป็นพล็อตที่เตรียมมานานพอสมควร แล้วมีสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งบ่งชี้เดินตามพล็อตดังกล่าว ตั้งแต่เชิญพรรคในขั้วรัฐบาลเดิมมาพบปะพูดคุยกัน แล้วทุกพรรคก็ตอบเหมือนกันเลยนะ ยินร่วมกับเพื่อไทย แต่ต้องไม่มีก้าวไกล แล้วมีการกินมิ้นต์ช็อกด้วยกัน เหมือนกันทุกพรรค จากนั้นก็มีกระแสมีมวลชนทางเพื่อไทยเองมาสนับสนุนว่าข้าวต้มมัด ไม่ต้องมัดกันแล้ว แกะออกดีกว่า เดี๋ยวบูด หรือไม่ก็บอกให้ฉีก MOU ทิ้ง สิ่งเหล่านี้เหมือนสิ่งซึ่งสร้างสถานการณ์ สร้างฉากให้นำมาสู่ฉากเมื่อวานนี้  

ก้าวไกลไม่รู้เหรอว่ามันจะเป็นไปในทางนี้?

ยุทธพร : จริงๆ ทุกฝ่ายคงมองเห็นภาพตรงนี้ ผมว่าก้าวไกลรู้ แต่ข้อจำกัดทางการเมือง และเส้นทางการเมืองของเขามีไม่มากนัก ลองดูโครงใหญ่ๆ เดินมาในทิศทางนี้ทั้งหมด สิ่งที่เราเห็นพรรคนี้ทะเลาะพรรคนั้น คนนั้นทะเลาะคนนี้ คนนี้ออกมาเถียงกับคนนั้น หรือดีลเลิฟๆ จับมือกัน  ตรงนั้นเป็นแค่เปลือก แต่โครงใหญ่ๆ มี 4 เรื่อง คือเรื่องผลการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน สองคือเรื่องการประกาศวางมือของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งหมายความว่าพลเอกประยุทธ์ต้องมีนายกฯ ในดวงใจแล้ว และฝ่ายขั้วอำนาจเดิมก็ต้องมีเครื่องมือทางการเมืองแบบใหม่ สามคุณทักษิณกลับบ้าน นั่นหมายความว่าพรรคเพื่อไทยก็ต้องเป็นรัฐบาล เพราะจะทำให้คุณทักษิณกลับบ้านได้ราบรื่นที่สุด สุดท้ายมวลชนจะเป็นยังไง ความคาดหวังของประชาชนกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน โครงใหญ่ๆ ที่มันเดินกับ 4 ปัจจัยตรงนี้ตลอด ดังนั้นไม่น่าแปลกใจ ที่ท้ายที่สุดมีการแยกออกจากกันระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย และ MOU 8 พรรคก็สิ้นสุดลง

การที่เซ็น MOU จะไม่มีผลอะไรเลยเหรอ แล้วจะเซ็นกันทำไม?

สมชัย : การเซ็น MOU เป็นการสร้างความมั่นใจว่า 8 พรรคถ้าหากจับมือในการจัดตั้งรัฐบาลจะทำอะไรร่วมกันบ้าง เป็นสัญญาที่มีต่อกัน แต่ขณะเดียวกันอย่างที่บอก มันไม่ได้เป็นกฎหมาย เป็นสิ่งซึ่งไม่ปฏิบัติตามแล้วจะเกิดบทลงโทษอะไรบ้าง พอถึงจุดๆ นึงอาจเดินต่อไปไม่ได้ เพื่อไทยเองก็บอกเองว่าไม่เอาแล้ว ขอฉีก MOU ทิ้ง ขอสลายเรื่อง 8 พรรคนี้ไป ถามว่าเขาสลาย เขาตัดสินใจเมื่อไหร่ ผมมองว่าเพื่อไทยเอง เห็นตั้งแต่เริ่มต้นแล้วแหละว่าก้าวไกลยังไงก็ไปไม่รอด
เขารู้อยู่ตั้งแต่วันแรกที่เซ็น MOU ด้วยซ้ำ แต่แสดงท่าทีเป็นสุภาพบุรุษในการเชียร์ขึ้นไปก่อน ว่าจะช่วยลงคะแนนเต็มที่ แต่ท้ายสุดเขารู้อยู่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ที่จะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอในสภา

จะตรงกับแฮชแท็กที่บอกว่าเพื่อไทยการละคร เป็นการแสดงหรือเปล่า?

สมชัย : ถือว่าเป็นความพยายามทำให้คนเห็นว่าเพื่อไทยได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด แต่ในใจก็ไม่ไปไหนหรอก ท้ายสุดก็ต้องตกอยู่ที่เพื่อไทย เพื่อไทยรออย่างเดียว รอว่าเมื่อไหร่ก้าวไกลจะบอกว่าขอโอนสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลให้ทางเพื่อไทย ซึ่งความจริงก้าวไกลพูดเร็วไป ถ้าก้าวไกลแข็งใจอีกสักนิด ครั้งที่สองยังไม่ลองกันเลย ขอโหวตครั้งที่สองก่อน

ก่อนหน้านั้นที่ไม่ได้โหวตรอบสอง ก้าวไกลรอได้เหรอ?

สมชัย : เขายังไม่ได้ใช้สิทธิ์ จริงๆ แล้วถ้าก้าวไกลขอสิทธิ์ครั้งที่สองว่าถ้าเข้าไปแล้วคะแนนห่างกันมาก ไปไม่ถึง เขาจะวางมือให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล แต่ครั้งที่สองคล้ายๆ โดนกติว่าไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำ จริงๆ เสนอได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะศาลก็ยังไม่ได้ชี้ด้วยซ้ำว่าสามารถเสนอชื่อซ้ำได้หรือไม่ได้ เพราะหลายคนยกมาเลยว่ารัฐธรรมนูญใหญ่กว่าข้อบังคับ จะเอาข้อบังคับมาใหญ่เหนือรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ดังนั้นถ้าหากเราเป็นก้าวไกล จะบอกว่าสิทธิ์ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น ก็ขอใช้สิทธิ์ตรงนี้ก่อน ก้าวไกลอาจสุภาพเกินไป ใจอ่อนเกินไป อาจมองโลกแง่ดีเกินไป อาจเห็นคนนึงที่รู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนที่หวังดี จริงๆ แล้วไม่ค่อยเป็นไปตามนั้นเท่าไหร่

ยุทธพร : วันนี้เราต้องยอมรับตรงไปตรงมา ว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะล้มละลายทางความเชื่อถือ MOU แม้ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นสัญญาประชาคมที่วันนี้ประชาชนต้องการให้เกิดการขับเคลื่อน  8 พรรคก็จับมือกันตั้งแต่ก่อนหน้านั้น วันนี้พอมีการหักมุม หักเหลี่ยมกันอย่างนี้ หลายส่วนรับไม่ได้ แล้วการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเลือกตั้งในประเทศไทยทุกครั้งจะมีฐานของมันอยู่ตลอด การเลือกตั้งปี 44 ที่ไทยรักไทยและคุณทักษิณได้เป็นนายกฯ ก็เป็นฐานอันเนื่องมาจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 และรัฐธรรมนูญปี 40 การเลือกตั้งปี 48 ก็เป็นฐานการดำเนินการนโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทยก่อนหน้านั้น การเลือกตั้งปี 50 ก็เป็นการรัฐประหารปี 49 การเลือกตั้งปี 54 ที่พรรคเพื่อไทยคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ก็มาจากฐานการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 53 เช่นเดียวกัน การเลือกตั้งปี 66 ก็เป็นฐานของการรัฐประหารปี 57 ดังนั้นการคาดหวังของประชาชนในการเลือกตั้งและประชาชนเห็นว่าตรงนี้เป็นเครื่องมือที่เขาจะได้แสดงเจตจำนงมีสูงมาก และวันนี้การเมืองจะเดินแบบเดิมไม่ได้แล้ว ก่อนหน้านี้สภาพการเมืองไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันเป็นเครื่องจักร ในการเก็บคะแนนเสียง ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองแท้จริงในเชิงอุดมการณ์ มันถูกตั้งเพื่อเป็นเครื่องจักรหาเสียง เก็บคะแนน เดี๋ยวมาเป็นรัฐบาล ส.ส.จับมือกัน ส.ส.นี้อยู่พรรคนี้ก็ได้รับเลือก ย้ายกี่พรรคก็ได้ แต่วันนี้ไม่ใช่อย่างนั้น ฉะนั้นกระบวนการตอบสนองต่อเจตจำนงประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้อย่างที่บอก พรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะล้มละลายความน่าเชื่อถือ การฟื้นฟูการล้มละลายตรงนี้ไม่มีใครช่วยได้ นอกจากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

เมื่อวานกระแสเพื่อไทยไปทางลบมากๆ พรรคเพื่อไทยคิดว่ายอมเสียสัจจะแบบนี้ มันคุ้มหรือเปล่า?

สมชัย : สิ่งที่เพื่อไทยอยากได้ คืออยากจัดตั้งรัฐบาลเร็วๆ และให้ก้าวไกลปล่อยมือ เรียกว่าพิชิตเลย ให้ได้เป็นนายกฯ ทันที เพราะโอกาสเข้าไปลงมติเลือกนายกฯ มาถึงมือตัวเองแล้ว วิธีการคือต้องทำให้โอกาสนี้ไม่เสียไป ถ้าหากใช้กระบวนการลองผิดลองถูก เสนอไปดูสิจะได้เสียงสว.มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้เดี๋ยวเสนอใหม่ นั่นคือลองผิดลองถูก แต่เพื่อไทยใจร้อน กะว่าให้จบในรอบเดียว ต้องได้นายกฯ เลย ซึ่งถ้าติดกับทางก้าวไกล เขาก็คิดว่าสว.ไม่ให้ เขาต้องคิดว่าต้องมีสว.ให้เพิ่ม แต่ไม่กล้าลอง วิธีการทำให้สว.เลือกทำยังไง ต้องหาพรรคการเมืองซึ่งสว.เขาไว้วางใจได้ โดยไม่เอาก้าวไกล เอาก้าวไกลออกไปก่อนจากสมการรวมจัดตั้งรัฐบาล แล้วยังไงต่อ ต้องหาพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งสว.ไว้วางใจ เพื่อให้สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ในครั้งเดียว แต่ครั้งนี้เกมไม่หมูแล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อน ทำให้การเลือกนายกฯ ไม่เกิดขึ้นเร็วแล้ว เดิมจะเกิดวันที่ 4 และใครบางคนจะกลับวันที่ 10 ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าเลื่อนไปโหวตนายกฯ หลังวันที่ 16 ไปแล้ว ผมเชื่อว่าท่านก็คงไม่รีบกลับมาวันที่ 10 หรอก ถัดไปคือการตั้งใจว่าจะให้สามารถชนะได้เร็ว นอกจากเรื่องนี้ ก็ต้องพยายามจับมือกับพรรคที่คิดว่าสว.จะช่วยเขา

พรรคอะไร?

สมชัย : ต้องเป็นพรรคฝ่ายที่มีส่วนในการตั้งสว. ต้องดูว่าใครมีส่วนตั้งสว.บ้าง เอาง่ายๆ ก็ประยุทธ์กับประวิตร ประยุทธ์วางมือ ก็คิดว่าน่าจะเป็นพรรคที่คิดว่าสว.น่าจะช่วย เป็นการคาดหวัง

มีสูตรที่เปิดเผยออกมา จากคุณชูวิทย์และหลายๆ คนด้วย บอกว่ามีสองสูตร คือมีลุงกับไม่มีลุง คิดว่าจะเป็นแบบไหน?

ยุทธพร : ผมคิดว่าในเบื้องต้นการโหวตอาจไม่มีสองลุงนะ เพราะอย่างที่บอกพรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะล้มละลายทางความเชื่อถือ ดังนั้นจะฟื้นฟูตรงนี้ ถ้าพรรคเพื่อไทยเอาสองลุงมา จะยิ่งทำให้เพื่อไทยกลับมาในความนิยมได้ยากเลย

สูตรมีลุง จะมี 340 เสียง อีกแค่ 40 เสียงก็ตั้งรัฐบาลได้แล้ว อาจารย์มองว่าไม่น่าใช่เหรอ?

ยุทธพร : ไม่น่าใช่ นี่คือสเต็ปแรก แต่สเต็ปที่สองจะมีลุงหรือไม่ก็อีกเรื่องนึงนะ แต่ตอนสเต็ปแรก โอกาสโหวตอาจไม่มีสองลุง เพราะเพื่อไทยต้องดึงความน่าเชื่อถือกลับมาก่อน ถ้าจับกับลุงใดลุงหนึ่ง ถ้าไปจับพลังประชารัฐ ภาพคือพลเอกประวิตร ไปจับรวมไทยสร้างชาติ แม้พลเอกประยุทธ์ประกาศวางมือ แต่ภาพก็ยังเป็นพลเอกประยุทธ์ สองพรรคนี้ต้องถูกวางเอาไว้ก่อน เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จจะมีการไหลมาหรือไม่ ว่ากันต่อในสเต็ปที่สอง ตอนแรกบอกไม่จับ เสียงตอนนี้ไม่จับก็อยู่ที่ 260 กว่าเสียง ต้องการสว.อีกร้อยกว่า แต่ถ้าพูดคุยลงตัว สว.ร้อยกว่า ที่มาที่ไป เป็นอย่างไร โอกาสเขาโหวตให้ก็เป็นไปได้ แต่หลังโหวตจากนั้น อาจมีการดึงพลังประชารัฐร่วมรัฐบาลภายหลัง ดึงมาร่วมทั้งพรรคหรือการให้ไหลมา อาจมีการยุบพรรคพลังประชารัฐแล้วไหลมาสู่พรรคเพื่อไทย ยุบพรรคแต่ตัวส.ส.ไหลมา แต่อาจเป็นแบบที่หนึ่งก็ได้ คือไม่มีการยุบพรรค ไม่มีการไหล แต่มาร่วมกันทั้งพรรค

ทำไมถึงบอกแบบนี้ เพราะสัญญาณมันมีตั้งแต่การประชุมพรรคพลังประชารัฐครั้งล่าสุด หลายคนบอกว่าพลเอกประวิตรลาออก 1 นาทีแล้วกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคใหม่ นั่นเป็นกระบวนการลาออกเชิงเทคนิคเพื่อล้างไพ่ สลายกรรมการบริหารพรรค แล้วมาเป็นเลขาธิการพรรคอีกครั้งของคุณธรรมนัส การเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของน้องชายพลเอกประวิตร เป็นสัญญาณที่น่าสนใจว่านั่นคือการปรับโครงสร้างเพื่อเตรียมในการร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยหรือไม่

ทางเพื่อไทยเป็นแผนที่วางไว้มั้ย หรือผิดพลาดที่คิดว่าจะง่ายแต่สุดท้ายไม่ง่าย?

สมชัย : สิ่งที่เพื่อไทยคิดว่าจะปิดเกมเมื่อวานนี้ คือการเอาก้าวไกลออกจากพรรคร่วม น่าจะเป็นทุ่งลาเวนเดอร์ สวยงาม ทุกอย่างราบรื่น นี่ไงปล่อยมือก้าวไกลแล้ว ก็จะมีใครต่อใครมาจับกับเราเต็มไปหมด แล้ววันที่ 4 เราจะเลือกนายกฯ เศรษฐาเป็นนายกฯ เพราะสว.จะสนับสนุนด้วยเพราะไม่มีก้าวไกล นี่คือจินตนาการเป็นแบบนั้น แต่ความจริงแล้วพอปล่อยก้าวไกลแล้ว ทุ่งลาเวนเดอร์มันเป็นนรกไปแล้ว หนึ่งมวลชนภายนอก กระแสที่อยู่ในสังคมทั้งหลายเป็นตัวสะท้อน ความไม่พอใจในตัวพรรคเพื่อไทยมันมหาศาล และมันจะมีผลต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไปด้วย ซึ่งคนเพื่อไทยเองจะรับรู้ สองพรรคที่จะมาจับมือ วันที่เขากินมิ้นต์ช็อก เขาก็ยิ้มชนแก้ว ดีครับ ช่วยครับ สนับสนุนครับ แต่วันนี้เวลาดึงมาเป็นพรรคร่วมเขาจะบอกว่าเท่าไหร่ จะให้ตำแหน่งอะไรกับเขา เพราะการร่วมไม่ได้มาฟรีๆ ของฟรีไม่มีในโลก และยิ่งเป็นของจำเป็น ต้องรีบใช้ ผีถึงป่าช้าแล้ว จะเลือกตั้งนายกฯ วันที่ 4 อำนาจในการต่อรองจะสูง ถ้าผมไม่ร่วมคุณจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เขาก็จะเรียกร้องของดีๆ ทั้งหลาย คมนาคม สาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เรียกหมด หรือสมมติถ้าจะเอาพลังประชารัฐ ของแพงเลย ถ้าพลังประชารัฐมาจะได้สว.อีก เขาก็จะขอเลย กลาโหม มหาดไทย พลังงาน  นี่หมายความว่าอำนาจในการต่อรองของฝ่ายที่จะเข้ามาสูงยิ่งกว่าเดิม วันที่ตึกแถวอยู่เฉยๆ ไม่ได้กีดขวางทางเข้าออกคอนโด มันไม่มีราคาหรอกครับ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องทุบตึกแถวทำเข้าออกคอนโด ตึกขึ้นไป 300-400 ล้านบาท นี่เปรียบเทียบให้เห็น ส่วนพรุ่งนี้ที่ต้องเลื่อนออกไป หนึ่งมาจากศาลรัฐธรรมนูญ สองสาเหตุคือมาจากการที่ยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีได้ว่า คุณจะเอาอะไรถ้ามาร่วมกับเรา เวลาสั้นเกินตกลงเรื่องจะแบ่งกระทรวงกันอย่างไร สามสว.จะให้แน่ๆ ถึงวันนี้สว.บอกว่าไม่ให้ครับ ให้เหตุผลว่าคุณเศรษฐาประวัติไม่ชัด เคยพูดเรื่อง 112 แล้วมีเรื่องที่ชูวิทย์แฉออกมาเป็นต้น ให้ไม่ได้ง่ายๆ เดิมที่คิดว่าง่ายหมด มวลชนไม่มีปัญหา พรรคมาร่วมไม่มีปัญหา สว.ไม่มีปัญหา ลาเวนเดอร์ทั้งหมดเลย แต่ไปๆ มาๆ มวลชนก็ร้อน เทสี เผาหุ่นพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมก็เรียกร้องความต้องการสูงมาก แพงมาก ฝั่งสว.บอกว่าฉันไม่ให้คุณง่ายๆ เพราะอะไรรู้มั้ย เพราะต้องการให้เห็นคุณค่าของสว.ด้วยว่าเราไม่ได้ให้คุณเปล่าๆ นะ คุณต้องพิสูจน์อะไรหลายๆ อย่างให้เราด้วย

การตกลงว่าใครจะได้กระทรวงไหนยังไม่ได้?

สมชัย : มันเร็วเกินไป เวลาเหลือน้อยเกินไป เพราะปกติแล้วกว่าเขาจะตั้งรัฐบาลเขาต้องคุยกัน ยกเว้นเตรียมกันมาก่อน แล้วการบวกลบตัวเลข คุณเอาก้าวไกลออกไป 151 คุณต้องเติมพรรคอื่นให้มากกว่านั้น ภูมิใจไทยมีแค่ 71 ก็ไม่ถึง จะเอาพรรคชาติไทยพัฒนาก็มีแค่ 10 คุณก็ต้องเอาพลังประชารัฐแน่ๆ ประชาธิปัตย์คุณก็ไม่เคยติดต่อเขา ชวนกินช็อกมิ้นต์ก็ไม่เคยชวนเขา ฉะนั้นพลังประชารัฐเป็นพรรคซึ่งเล่นตัวได้สูงที่สุด เพราะเข้ามาแล้วตั้งรัฐบาลได้เลย และได้เสียงจากสว.ด้วย ดังนั้นถึงบอกว่าเมื่อคืนนี้มีคนกระซิบข่าวว่าประชุมกันเครียดเลย ที่พรรคพลังประชารัฐว่าจะเอาอะไรบ้าง

ทำไมต้องแย่งกระทรวงกันด้วย?

ยุทธพร : เรื่องปกติการเมืองระบบรัฐสภา การทำงานให้พี่น้องประชาชนต่างๆ เป็นอุดมคติทางการเมือง แต่สุดท้ายความเป็นจริง การเมืองในระบบรัฐสภา คือการเจรจาต่อรอง แต่วันนี้สิ่งที่พรรคเพื่อไทยลืมพิจารณา คือเพื่อไทยไม่สามารถผูกขาดบัตรเลือกตั้งเหมือนอดีตได้แล้ว ในอดีตใครก็ตามที่ไม่สนับสนุนเผด็จการ อยากมีเส้นทางประชาธิปไตย อยากได้นโยบายดีๆ ต่างๆ  ทางเลือกหลักทางเลือกเดียวคือเพื่อไทย แต่วันนี้ในเมื่อมีการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างพรรคก้าวไกล หรือในอนาคตจะเกิดพรรคอื่นๆ มากมาย มันคือทางเลือกที่พรรคเพื่อไทยถูกแชร์ความนิยม และถูกแชร์เรื่องคะแนนเสียงออกไป พอถูกแชร์แบบนี้แล้ว พรรคเพื่อไทยตัดสินใจในสถานการณ์โดยไม่คำนึงถึงบริบทแวดล้อมเหล่านี้ สิ่งที่จะตามมาคือเงื่อนไขที่ถูกบีบจากเกมการเมืองในสภา เกมการต่อรอง และเกมอื่นๆ อีก ไม่ว่ามติวันที่ 19 ที่ห้ามโหวตเลือกนายกฯ ซ้ำ หลายคนบอกว่ามติตรงนี้เกิดขึ้นเพื่อตัดก้าวไกล ตัดคุณพิธาออกไปจากสมการการเมือง แต่มันไม่ใช่แค่นั่น แต่มติตรงนี้ไปบีบพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย เพราะวันนี้แคนดิเดตนายกฯ 9 คนเหลือใช้งานจริงอยู่ 4 คน คือคุณเศรษฐา , คุณอุ๊งอิ๊ง, คุณอนุทิน, พลเอกประวิตร อีก  5 คน คือแคนดิเดตที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ถ้าคุณแคนดู สองสองนะครับ ฝั่งเพื่อไทยสอง ฝั่งขั้วอำนาจสอง ฉะนั้นถ้าคุณเศรษฐาถูกตัดในการโหวตขึ้นมา แล้วมติตรงนี้ยังอยู่เพราะศาลรัฐธรรมนูญเลื่อน มันยังใช้บังคับอยู่ ถ้าตัดคุณเศรษฐาออกไป แคนดิเดตเพื่อไทยเหลือคุณอุ๊งอิ๊งคนเดียวนะ เป็นเกมที่บีบเพื่อไทย และเพื่อไทยต้องเผชิญการเมือง 8 พรรคเดิมที่สลัดก้าวไกลออกไป มีข้อวิจารณ์ทางสังคมเกิดขึ้นมากมาย เผชิญการเมืองฝั่งขั้วอำนาจเดิม 188 อีก เขาจะต่อรองยังไง เก้าอี้กระทรวงไหน แม้เราไม่อยากเห็นเรื่องโควตารัฐมนตรี ไม่อยากเห็นการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นความจริงที่เราก็ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง แล้วคนนอกสภาเขาไม่ได้อยากเห็นการเมืองเป็นแบบนี้ โจทย์ในสภาก็เป็นโจทย์ที่สำคัญในการตั้งรัฐบาล ยังไม่รวมสว.อีก 250 นะ ที่เขาออกมาตั้งโจทย์เรื่อยๆ ไม่รู้สุดท้ายเขาต้องการใครเป็นนายกฯ เขาตั้งโจทย์อันแรกไม่เอาคุณพิธา สองไม่เอาก้าวไกล สามไม่เอาคุณเศรษฐา ไม่อยากจะเชื่อใจว่าจะเอาก้าวไกลมาหรือเปล่า เสนอเลยนะ สว.ตั้งพรรคสักพรรคนึงแล้วให้ประชาชนเลือกตั้ง พรรคสว. ชัดๆ ไปเลย เลือกตั้งครั้งหน้าก็สักพรรคนึง ไหนๆ เขาจะหมดวาระอยู่แล้วในปีหน้า

สมชัย : ไม่ได้ (หัวเราะ) รัฐธรรมนูญให้เว้นวรรคสองปี

ยุทธพร :   คนเดิมๆ ตัวตึงทั้งหลาย มาตั้งเถอะอยากรู้ประชาชนจะเลือกมั้ย

สมชัย : ไม่ได้สักเสียง (หัวเราะ)

การเลื่อนของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงมั้ย จุดประสงค์คืออะไรกันแน่?

สมชัย : ถ้ามองจากจังหวะเดิมที่คาดการณ์ไว้ ถ้ามีการโหวตนายกฯ พรุ่งนี้ วันนี้ศาลต้องมีคำว่าไม่รับคำร้อง ซึ่งก็จะตีตกไป แต่ตอนนี้ศาลแทนที่จะรับหรือไม่รับ บอกว่ายังอ่านไม่จบ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องไปดูก่อนในแง่มุมต่างๆ ดังนั้นขอยังไม่บอกอะไรในวันนี้ ขอมาคุยเรื่องนี้ใหม่ 16 ส.ค. ส่วนคำร้องบอกว่าขอเลื่อนการเลือกนายกฯ ออกไปนั้น เดี๋ยวไปทำตอนนั้นพร้อมๆ กัน ตอนนี้กลายเป็นว่าศาลไม่รับเผือกร้อน ฝั่งโน้นโยนมาว่าจะรับหรือไม่รับ ถ้าไม่รับก็แปลว่าพรุ่งนี้เลือกนายกฯ ฉลุยได้ทันที แต่ถ้าหากรับก็อาจมีการสั่งให้เลื่อนออกไปก่อน ศาลเลยทำเป็นว่าเอ๊ะ ยังอ่านไม่เข้าใจ ต้องมีการวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ เพิ่มเติม ขอเวลามากกว่านี้สักนิด บังเอิญศาลอาจหยุด 6 วันไปไหนต่อไหนไม่ได้อ่านหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เป็นไปได้ พอเป็นแบบนี้ก็มาตกที่ท่านอาจารย์วันนอร์ ผมก็ถือว่าท่านเฉียบขาดและเร็ว พอศาลแถลงข่าวออกมาปั๊บ อาจารย์วันนอร์ก็ออกมาแถลงข่าวว่า พรุ่งนี้วาระเลือกนายกฯ เลื่อนออกไปก่อน แล้วหยิบวาระเกี่ยวกับ 272 แก้รัฐธรรมนูญ 272 ตัดอำนาจสว.ขึ้นมาพิจารณาก่อน ตอนแรกคิดในใจ อาจารย์วันนอร์จะใช้มุกนี้หรือเปล่า ทำงงๆ แล้วให้ที่ประชุมอภิปราย 6-8 ชม.แล้วให้ลงมติกัน แต่ถือว่าคราวนี้ กลับมาฟอร์มดีขึ้นกว่าเดิม เป็นฟอร์มที่ตัดสินเลย เลื่อนเลย แล้วค่อยว่ากัน

คุณชูวิทย์ไลฟ์ว่าจะเปิดแผลคุณเศรษฐา คิดว่าจะมีผลในการโหวตคุณเศรษฐาในสภาหรือเปล่า?

สมชัย : การโหวตคุณเศรษฐาจะไม่เกิดขึ้นในวันที่ 16 ส.ค. อยู่แล้ว ฉะนั้นจากวันนี้ถึง 16 อีกหลายวัน ดีไม่ดีคุณเศรษฐาอาจคิดเองว่าฉันไม่น่าเป็นนายกฯ ก็ได้ เพราะว่ามีหลายต่อหลายเรื่องที่เกิดจากนี้ไป เช่นกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย หรือการขุดเอาเรื่องราวต่างๆ ที่คุณเศรษฐาเคยพูดในอดีตว่าผมจะไม่ร่วมกับพรรคโน้น ผมจะไม่ร่วมกับพรรคนี้ หรือผมเห็นด้วยกับการแก้มาตราโน้นมาตรานี้เป็นต้น ฉะนั้นจากวันนี้ถึงหลัง 16 ส.ค. เป็นโอกาสไตร่ตรองของคุณเศรษฐาว่าพร้อมที่จะเอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ นักธุรกิจต้องคิดว่าเขาได้หรือเสีย เขาลงไปแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ ลงจังหวะนี้คุ้มหรือไม่คุ้ม หรือรอไปอีกสักระยะนึงก่อน อะไรก็ไม่แน่ ทีนี้การเปิดเรื่องคุณเศรษฐาโดยคุณชูวิทย์ เข้าใจว่าตอนแรกคิดว่าจะมีการโหวตเร็วๆ ท่านก็ตั้งใจไว้ แต่ก็แฉกันเลยก่อนวันโหวตเพื่อให้สว.ตัดสินใจ แต่สว.จะใช้ในการตัดสินใจหรือไม่ ผมคิดว่าถ้าสว.คิดว่าจะไม่เลือกก็จะใช้ข้อมูลนี้ประกอบการตัดสินใจ แต่ถ้าสว.คิดว่ายังไงก็เลือกอยู่แล้ว วันนี้ก็เสียงนกเสียงกา ไม่ได้มีผลอะไร ไม่มีผลในการโหวตเป็นเรื่องที่สว.คิดเอง ตัดสินใจเอง โดยมาจากการที่ใครขอให้ทำก็แล้วแต่ แต่ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ได้ให้เป็นประโยชน์ถ้าจำเป็น กรณีเขาไม่ต้องการจะเลือก สมมติมีการเลือกจริง จะมีจังหวะนึงที่มีการให้แถลงแนวความคิดนโยบาย มีจังหวะนึงที่จะต้องตอบคำถาม ดังนั้นสิ่งที่คุณชูวิทย์พูดวันนี้จะกลายเป็นคำถาม หรือถ้ามีการโหวตนายกฯ เกิดขึ้น แต่ตอนนี้ไม่ได้ใช้แล้ว คุณชูวิทย์ก็ถือว่าเสียเปล่าไปแล้ว เดี๋ยวค่อยจัดอีกอีเวนต์แล้วกัน

คุณชูวิทย์แฉเรื่องการเลี่ยงภาษี 500 กว่าล้าน?

สมชัย : ถ้าผิดต้องไปร้องสรรพากร ให้สรรพากรเรียกเงิน แต่ไม่ใช่ผิดแล้วมาพูดตรงนี้ ต้องให้สรรพากรดำเนินการ

หลังคุณชูวิทย์บอกจะมาแฉ หุ้นแสนสิริตกไป 3 เปอร์เซ็นต์ มีผลทางการเมือง?

สมชัย : แน่นอนครับ (หัวเราะ) หุ้นเขาอ่อนไหวทางการเมืองอยู่แล้ว เวลาพรรคไหน ที่จะได้เป็นรัฐบาล หุ้นบางบริษัทก็ตกเอาตกเอา แต่บอกพรรคนั้นไม่ได้มาร่วมแล้ว หุ้นนั้นก็จะขึ้นมา หุ้นแสนสิริตกก็อาจมาจากเริ่มไม่แน่ใจว่าคุณเศรษฐาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ ยิ่งยังไม่มีการเลือกในวันพรุ่งนี้ ให้เลื่อนออกไปก่อน ก็แปลว่าโอกาสที่คุณเศรษฐาจะเป็นนายกฯ ก็ไม่ได้แปลว่าร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว

ถ้าคุณเศรษฐาไม่ได้เป็นนายกฯ จากนั้นจะเป็นใคร?

ยุทธพร :   คุณอุ๊งอิ๊ง

เป็นไปได้มั้ยจะเป็นพรรคอันดับสาม อย่างภูมิใจไทย?

ยุทธพร : มีโอกาสสูง มีโอกาสเป็นไปได้ วันนี้อย่าลืมว่าแคนดิเดตนายกฯ ใช้งานได้จริงมีอยู่ 4 คน ถ้าคุณเศรษฐาโหวตไมได้ ด้วยเหตุว่าโหวตแล้วไม่ผ่านในสภา หรือคุณเศรษฐาไม่ประสงค์ให้เสนอชื่อ เราอาจไม่เห็นการเสนอชื่อคุณอุ๊งอิ๊งและข้ามไปสู่พรรคอันดับสามเลย คือภูมิใจไทย คุณอนุทิน หรืออยู่ที่พลังประชารัฐ คุณประวิตร โอกาสอย่างนี้มันพลิกได้ อย่าลืมว่าแรงกดดันจากภาคสังคมและเศรษฐกิจจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ การที่เสถียรภาพการเมืองไม่นิ่งก็จะกระทบเสเถียรภาพทางเศรษฐกิจต่างๆ ดังนั้นโอกาสพลิกไปเรื่อยๆ เป็นไปได้ การเมืองไทยพลิกได้ตลอดเวลา วันนี้การเมืองไม่ได้จับตาวันต่อวัน หรือจับตาชั่วโมงต่อชั่วโมง แต่ต้องจับตาเป็นวินาทีต่อวินาที