ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
การทำการยึดอำนาจที่ไนเจอร์ โดยคณะทหารและมีประชาชนออกมาเดินขบวนสนับสนุนจำนวนมาก พร้อมเข้าโจมตีสถานทูตฝรั่งเศส นับเป็นอาการที่เทียบได้กับฝีหนองที่สุกงอมและแตกออก
แน่นอนย่อมมีความวุ่นวาย มีความเสียหาย และ คณะทหารกับประชาชนก็จะได้รับผลจากการแซงก์ชั่นของตะวันตก และกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของแอฟริกาตะวันตก หรือประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตกที่ยื่นคำขาดให้ปล่อยตัวและคืนอำนาจให้ประธานาธิบดีภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะมีมาตรการต่างๆ รวมทั้งการใช้กำลังตอบโต้
เริ่มต้นของเหตุการณ์จากการที่เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่คณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจ โดยประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ระงับการดำเนินการของสถาบันทางการเมืองทั้งหมด และปิดพรมแดน โดยการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม ก็ถูกควบคุมตัวโดยหน่วยทหารอารักขาประธานาธิบดี
ผู้นำในการยึดอำนาจคือพลเอกอมาโด อับดราเมน เหตุผลสำคัญคือสถานะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ขาดหลักธรรมาภิบาล (ก็คงหมายถึงมีการคอร์รัปชันสูง) และนำไปสู่การขาดเสถียรภาพทางการเมือง
ขณะที่ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ปล่อยตัวประธานาธิบดีบาซูม และคืนอำนาจให้รัฐบาล ส่งผลให้ถูกประชาชนออกมาประท้วงและโจมตีขับไล่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสต้องดำเนินการอพยพคนของตน และยินดีช่วยชาวต่างชาติอื่นๆในการอพยพด้วย
ความจริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการยึดอำนาจ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยคณะทหาร เมื่อปีที่แล้วก็เกิดการยึดอำนาจที่ประเทศกินี ในแอฟริกาตะวันตก และมีการขับไล่เจ้าอาณานิคม คือ ฝรั่งเศสเหมือนที่ไนเจอร์
ก่อนหน้านั้นเช่นกันมีการยึดอำนาจที่บูร์กินาฟาโซ ภายหลังจากมีการยึดอำนาจในมาลีไม่นานนัก เจ้าอาณานิคมก็คือฝรั่งเศสและเช่นเดิมมีการดำเนินการขับไล่อดีตเจ้าอาณานิคมออกไป
ประเทศไนเจอร์หรือบีแชร์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐไนเจอร์ เป็นประเทศแลนด์ล็อก คือ ไม่มีทางออกทะเล อยู่ทางด้านใต้ของทะเลทรายสะฮาราในแอฟริกาตะวันตก โดยตั้งชื่อตามแน่น้ำไนเจอร์ มีอาณาเขตทางใต้จรดไนจีเรีย และเบนิน (อดีตราชอาณาดาโฮเม ที่ทรงอิทธิพลในยุคโบราณ) ตะวันตกจรดประเทศมาลี ทิศเหนือจรดประเทศแอลจีเรีย และลิเบีย ทางตะวันออกจรดชาด เมืองหลวงชื่อนีอาเม ประชากรประมาณ 25 ล้านคน
ไนเจอร์เป็นประเทศหนึ่งที่ประชาชนมีฐานะยากจนมากประเทศหนึ่ง ในขณะที่มีแร่ยูเรเนียมที่มีค่ามหาศาล แต่ถูกสัญญาผูกขาดจากอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสก่อนปล่อยให้เป็นอิสรภาพ ซึ่งฝรั่งเศสกระทำแบบนี้กับประเทศอาณานิคมของตนในแอฟริกาที่ตนปกครองก่อนให้อิสรภาพ จึงทำให้ประเทศเหล่านี้ยากจน ทั้งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า แต่ฝรั่งเศสกลับนำไปเพิ่มเติมความมั่งคั่งของตน
นอกจากการถูกขูดรีดจากอดีตเจ้าอาณานิคม ที่ประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เบลเยียม กระทำต่อประเทศเหล่านั้นในทำนองใกล้เคียงกัน ปัญหาก็คือผู้นำรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารต่างก็สมคบกับต่างชาติขายประเทศเพื่อความร่ำรวยของตนเอง
ดังนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์แอฟริกาสปริง คือ การที่คณะทหารเข้ายึดอำนาจโดยมีประชาชนสนับสนุนเป็นช่วงๆ สลับกับการเลือกตั้ง แต่ก็คงหนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์ คือ ผู้นำคอร์รัปชัน ประชาชนยากจนข้นแค้น ระบาดไปทั่วทวีปแอฟริกา
จีนกับรัสเซียมองเห็นโอกาสในการขยายอิทธิพลของตนท่ามกลางความเกลียดชังของชาวแอฟริกาต่อคนผิวขาวตะวันตกที่มากดขี่ขูดรีด และเหมารวมไปถึงพวกมิชชันนารีที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ที่ไม่ว่าจะมีเจตนาอะไรก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างที่รัฐบาลตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมใช้เป็นเงื่อนไขส่งทหารเข้าไปคุ้มครองและยึดครองในที่สุด ในระหว่างนั้นก็ตักตวงเอาทรัพยากรเอาไปพัฒนาประเทศของตน โดยไม่เคยคิดจะช่วยเหลือประชาชนในอาณานิคม นอกจากการเหยียดผิว ขูดรีด
ครั้นถึงยุคที่จะต้องปล่อยให้ประเทศเหล่านั้นเป็นอิสรภาพตามเงื่อนไข UN และกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ยังคงวางกับดักไม่ว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขผูกขาดผลประโยชน์ในอดีตประเทศอาณานิคมของตน หรือให้การสนับสนุนพวกขุนศึกที่กระหายอำนาจโดยการให้อาวุธ หลายกรณีแลกกับเพชรหรือทองคำในพื้นที่ สนับสนุนแม้แต่การจัดตั้งทหารเด็ก ที่ขุนศึกพวกนั้นนำมาล้างสมองให้เข่นฆ่าผู้คนฝ่ายตรงข้าม
จนเมื่อขุนศึกเหล่านั้นยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จก็จะเข้ามาทำทีช่วยพัฒนาด้วยสัญญาเอาเปรียบกับผู้นำประเทศเหล่านั้นและยังคงกอบโกยขูดรีดตลอดมา
ทว่าก็มีหลายประเทศที่ประชาชนลุกฮือต่อต้านและในที่สุดก็เป็นไทจากอดีตเจ้าอาณานิคม เช่น แอลจีเรีย หรือ โมร็อกโกซึ่งแอลจีเรียนั้นอุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติ
จีนกับรัสเซียจึงขยายบทบาทของตนเข้าไปในแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันมี 56 ประเทศ และอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นทองคำ เพชรพลอย ก๊าซ น้ำมัน โคเทน โคบอล และยูเรเนียม เป็นต้น
นอกจากแร่ธาตุแล้วแอฟริกายังมีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สำคัญในการต่อต้านยุโรป
จีนนั้นเข้าไปแอฟริกาก่อนรัสเซียเป็นเวลานับกว่า 50 ปี ในรูปการค้า การให้ความช่วยเหลือในการพัฒนา จนปัจจุบันก็ได้ทีขยายโครงการ การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางBRIเข้าไปในแอฟริกาที่ขาดเงินลงทุนในสาธารณูปโภค
ส่วนรัสเซียนั้นจะเข้าไปในแนวการลงทุนขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทองคำ ในมาลี หรือในซูดาน
นอกจากนี้รัสเซียยังส่งกองกำลังทหารรับจ้างอย่างวากเนอร์ เข้าไปคุ้มครองสัมปทานของตน และเจ้าของประเทศในหลายประเทศ เช่น ลิเบีย ซูดาน มาลี ฯลฯ
เมื่อเกิดเหตุยึดอำนาจในไนเจอร์ ประชาชนที่สนับสนุนการยึดอำนาจเพราะทนการขูดรีดของอดีตเจ้าอาณานิคมไม่ได้ รวมทั้งการคอร์รัปชันของผู้นำ จึงนำเอาธงรัสเซียออกมาโบกสบัด เพราะหวังได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียเพื่อปกป้องตนเองจากการโจมตีทางทหารของฝรั่งเศสและพันธมิตร
ตลอดจนมุ่งหวังให้รัสเซียช่วยแก้ปัญหาการถูกแซงก์ชั่นจากตะวันตก และแม้แต่กลุ่มเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตกที่มีความโน้มเอียงข้างตะวันตก ซึ่งตอนนี้แม้รัฐบาลรัสเซียยังไม่ขานรับ แต่เยฟเกนี พรีโกซิน ก็ไม่ทิ้งโอกาสออกมาแสดงการสนับสนุนทางสื่อแล้ว เพราะมีกองกำลังวากเนอร์อยู่ที่มาลีประเทศเพื่อนบ้าน
เหตุการณ์ในไนเจอร์ ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป เพราะก็ยังมีประชาชนบางส่วนออกมาประท้วงการรัฐประหาร หากเกิดสงครามกลางเมือง โดยทั้ง 2 ฝ่ายติดอาวุธให้ประชาชนไนเจอร์ ก็คงกลายเป็นรัฐล้มเหลวเหมือนโซมาเลีย ในแอฟริกาตะวันออก
ครับบทเรียนในครั้งนี้หวังว่าประเทศไทยคงจะได้มีสติยั้งคิด และดำเนินวิเทโศบายให้เกิดประโยชน์กับชาติอย่างสูงสุด