Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.48 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.23-34.53 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (ราคาทองคำถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ)
 
โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลัง Fitch Rating หั่นเครดิตเรทติ้งของสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ AA+ ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.08% จากแรงขายบอนด์สหรัฐฯ โดยส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับพอร์ตของนักลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนซึ่งเน้นตราสารหนี้ AAA นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้สร้างแรงกดดันต่อหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา (Nvidia -4.8%, Amazon -2.6%) ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.38% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ลดลงกว่า -1.35% ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินจากประเด็น Fitch Rating หั่นเครดิตเรทติ้งของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปที่ไม่ได้ออกมาดีเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ (TotalEnergies -2.8%, Rio Tinto -2.6%) หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

ในฝั่งตลาดบอนด์ เรากลับมองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทะลุระดับ 4.00% อีกครั้งนั้น นักลงทุนควรมองเป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นอาจเผชิญแรงขายออกมาบ้าง (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ถือว่าน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอีกไม่มากนัก (มองบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ทะลุระดับ 4.30%) ขณะที่ การปรับตัวลดลงยังมีโอกาสพอสมควร (คงเป้าปลายปี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แถว 3.50%) ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในจังหวะที่ตลาดเผชิญความผันผวนสูง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงขายทำกำไรได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม BOE ในวันนี้ และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.6 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.2-102.8 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 1,972 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจต้องการซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเรามองว่า BOE จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +50bps สู่ระดับ 5.50% (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มอง +25bps สู่ระดับ 5.25%) หลังอัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า BOE จะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตอย่างไร โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สู่ระดับ 5.75%-6.00%

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนกรกฎาคม รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) 

นอกจากนี้ เรามองว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Amazon, Apple (รายงานหลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการ) จะเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิด และอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า สถานการณ์การเมืองไทยจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อรอลุ้นการจัดตั้งว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ในการโหวตเลือกนายกฯ ที่จะถึงนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) เงินบาทก็จะยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โฟลวซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง แรงขายสินทรัพย์ไทย หรือแม้กระทั่งโฟลวซื้อสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงพอสมควรในช่วงนี้ นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองไทยก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังคงอยู่ในภาวะ wait and see และไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย (แต่ยังทยอยขายทำกำไรอยู่ได้) ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงนี้ จนกว่าปัจจัยกดดันจะเปลี่ยนแปลง โดยเราคงประเมินแนวต้านเงินบาท 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านแรก ที่เรายังพอเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาด ทั้งผู้ส่งออก และผู้เล่นบางส่วนที่มีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาท (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะกลาง-ยาว) แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังติดโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุม BOE โดยหาก BOE ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด (ขึ้น +50bps ตามที่เราประเมิน) และส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ เงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) แต่หาก BOE ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจน (มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป แบบเฟด และ ECB) ในกรณีนี้ เงินปอนด์มีโอกาสอ่อนค่าลง หนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ 

โดยเราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOE และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE