ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า กรมการท่องเที่ยว เดินหน้าตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) มุ่งสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน โดยสนับสนุนและเสริมสร้างองค์ความรู้ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยมาตรฐานสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อการบริหารจัดการเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย
โดยในปี พ.ศ. 2566 กรมการท่องเที่ยว บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรมไทย เป็นต้น เพื่อตรวจประเมินผู้ประกอบการ และเมืองท่องเที่ยวตามมาตรฐานของอาเซียน ได้แก่ มาตรฐานโรงแรมสีเขียว (ASEAN Green Hotel Standard) มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาด (ASEAN Clean Tourist City Standard)
พร้อมด้วยรางวัลการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)” ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอชื่อผู้ประกอบการที่พักโรงแรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลเมืองและเทศบาลนคร) ที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานอาเซียนให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียน และจะมีการประกาศรายชื่อในช่วงการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Forum) ที่จะจัดขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า กรมการท่องเที่ยวเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในฐานะสมาชิกประเทศอาเซียน ซึ่งดำเนินการตรวจประเมินมาตรฐานการท่องเที่ยวของอาเซียน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด และขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างตระหนักและให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นกับสถานการณ์และภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคธุรกิจการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรจากพลังงาน น้ำ และไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น กรมการท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจท่องเที่ยว จึงได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงให้ทุกภาคส่วนมีการปฎิบัติและดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งในเรื่องความสะอาด ความสะดวก ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยที่ดีกว่าเดิม
“เป็นที่น่ายินดีว่า ภาคธุรกิจเอกชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยมีความตื่นตัวอย่างมาก สามารถปรับตัวทางธุรกิจเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ที่ให้ความสนใจในเรื่องความสะอาดและการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งกรมท่องเที่ยวมีการจัดการองค์ความรู้ และจัดทำมาตรฐานของสินค้าและบริการในระดับประเทศและระดับอาเซียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การท่องเที่ยวยุคใหม่ของประเทศไทย สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน” นายจาตุรนต์ กล่าว
ซึ่งในปี 2566 มีผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นในการขอรับการตรวจประเมินมาตรฐานโรงแรมสีเขียวอาเซียน จำนวน 27 แห่งจากทั่วประเทศ มีเทศบาลเมืองที่ขอรับการตรวจประเมินมาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาดอาเซียน จำนวน 4 แห่ง และเมืองที่สมัครเข้ารับการตรวจประเมินรางวัลท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอาเซียน ภายใต้แนวคิด “Gastronomy Tourism” จำนวน 4 แห่ง