วันที่ 2 ส.ค.2566 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีมติของรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.ที่ห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำรอบสองนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.)  ว่า ตนประเมินว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะยกคำร้อง เพราะประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่การกระทบสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หรือกระทบโดยตรง แต่เป็นเหตุผลทางการเมือง ขณะที่การพิจารณาวินิจฉัยของรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค.นั้นเป็นเอกสิทธิ์ และเป็นไปตามอำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติญญัติ ดังนั้นศาลไม่สามารถก้าวก่ายเรื่องดังกล่าวด้วย ดังนั้นตนมองว่าโดยรวมแล้วจะยกคำร้อง แต่ที่มีการวิเคราะห์ว่าจะรับไว้พิจารณานั้น อาจจะเป็นปัญหาได้ แม้จะรับแต่ไม่มีคำสั่งใด จะทำให้รัฐสภาไม่สามารถเดินหน้าเลือกนายกฯ ได้ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญควรจะยกตั้งแต่แรก  ซึ่งกรณีดังกล่าวตนยืนยันว่าสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการนั้นเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

เมื่อถามว่าหากประเมินว่าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง กระบวนการเลือกนายกฯต้องเกิดขึ้นวันที่ 4 ส.ค. สว.จะตัดสินใจอย่างไร นายเสรี กล่าวว่า ต้องรอฟังความชัดเจนจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่ได้หารือกันในวันนี้ (2ส.ค.) ว่าจะเสนอชื่อใครต่อรัฐสภา จะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ รวมถึงการจับมือจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งสถานการณ์การเมืองตอนนี้ตนมองว่าเป็นช่วงฝุ่นตลบ ผันผวน และ เป็นการต่อสู้กันทางการเมือง

"พรรคเพื่อไทยตอนนี้คล้ายจะหลบ แต่พรรคก้าวไกลยังเกาะ ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่กล้าตัดสินใจ จะพันกันไปมาปัญหาไม่จบ สำหรับการโหวตนั้นต้องดูตามหลักการ โดยยึดเกณฑ์ที่ สว.ไม่โหวตให้คนของพรรคก้าวไกล เพราะมีประเด็นแก้มาตรา 112 และจะแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2  ส่วนที่นายเศรษฐา ระบุว่าสนับสนุนแก้มาตรา 112 นั้น ต้องรอฟังให้แสดงเจตนารมณ์" นายเสรี กล่าว

เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับสูตรการเมืองที่ 151 ส.ส.ก้าวไกล จะโหวตให้นายกฯพรรคเพื่อไทยและถอยเป็นฝ่ายค้าน นายเสรี กล่าวว่า พรรคก้าวไกลคงไม่ทำแบบนั้น เพราะจะทำให้พรรคก้าวไกลเสียหาย เนื่องจากหากจะถอยเป็นฝ่ายค้าน ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดตั้งแต่แรก เพราะหากโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ เพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ แต่ในอนาคตจะตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลได้อย่างไร และอาจจะขัดกับวิสัยที่จะตรวจสอบในสภา

“หากพรรคก้าวไกลลงคะแนนให้ แสดงว่ายังต้องการตำแหน่งและร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ หากบอกว่าจะถอยเป็นฝ่ายค้านจะตอบมวลชนอย่างไรในจุดยืนของตัวเอง ซึ่งอาจจะถูกครหาและแนวร่วมเกิดความไม่เชื่อถือได้ ดังนั้นหากพรรคก้าวไกลอยากได้มวลชนต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจน หากจะถอยเป็นฝ่ายค้าน จะลงคะแนนให้ทำไม" นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวว่า ทางออกของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ตนมองว่าไม่ยาก เพราะเมื่อพรรคก้าวไกล ประกาศให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแล้ว ก็ฉีก MOU ส่วนที่ติดขัดว่ารัฐสภาไม่ให้ผ่าน ให้พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลก็แยกกัน หากเกาะกันไว้แสดงว่ายังหวังจะร่วมรัฐบาล พรรคก้าวไกลมีสส.เยอะ อาจจะได้โควต้าหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงด้านความมั่นคง