นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบัน พบว่า คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น และคิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตทั้งหมด  โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก คือ โรคเบาหวาน และความดัน ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การออกกำลังกายไม่เพียงพอ การกินอาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูงจัด กรมอนามัย โดยกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ มีพันธกิจในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาชนสุขภาพดี ด้วยแนวคิดความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารและการบริการต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง ดังนั้น การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสมผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด กรมอนามัยจึงได้ร่วมมือกับเนสท์เล่ ขับเคลื่อนโครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจพิชิตสุขภาพดี ในการกระตุ้นและส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้คนในชุมชนสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง

 

นางสาวสลิลลา สีหพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า
เนสท์เล่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 130 ปี และมุ่งมั่นส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีด้วยการดำเนินงานภายใต้ปรัชญา Good food, Good life อาหารที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการนำเสนออาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม พร้อมกับรสชาติที่อร่อย เพราะเราเชื่อว่าอาหารมีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพดี การเลือกรับประทานอาหารและทำกิจกรรมในแต่ละวันให้เหมาะสมกับสุขภาวะ เป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

“สำหรับโครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจพิชิตสุขภาพดี เราต้องการสร้างความตระหนักและส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพดีทั้งเรื่องการรับประทานอาหารและการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยนำความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ

เพื่อสุขภาพที่ดีของเรา มาประยุกต์เป็นภารกิจที่สามารถปฏิบัติตามทุกวันได้ง่าย ๆ ร่วมกับกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ ของกรมอนามัย และประสานการทำงานกับหน่วยบริการในชุมชน เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย เข้าถึงชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 130 ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการนี้ได้รับเคล็ดลับการดูแลสุขภาพและประสบการณ์ใหม่ในการดูแลตัวเอง รู้วิธีเลือกสินค้าที่มีโภชนาการเหมาะสม โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ "ทางเลือกสุขภาพ" ได้ลงมือปฏิบัติตามพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเป็นประจำ จนเกิดเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่นำไปปฏิบัติต่อได้แม้จบโครงการไปแล้ว

 

โครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจพิชิตสุขภาพดีในปี 2566 นี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดย 80% ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 3,900 คน มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นประจำ เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มหวานน้อย จัดให้มีเมนูผักอยู่ในอาหารอย่างน้อยวันละ 2 มื้อ ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เลือกดื่มนมหรือเครื่องดื่มที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำ โดยผู้เข้าร่วมโครงการใน 97 ชุมชนจาก 130 ชุมชนมีน้ำหนักลดลงอย่างน้อย 5% หรือรอบเอวลดลงอย่างน้อย 1 นิ้ว

นางสาวเข็มณิภา วงษ์จินดา ชมรมรวมพลคนต้นแบบ สสจ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า ประทับใจโครงการนี้มาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นให้สมาชิกในชุมชนได้เริ่มสร้างพฤติกรรมสุขภาพดีกันอย่างจริงจัง นอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคลแล้ว ยังไปแนะนำให้กับคนในครอบครัวที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการได้อีกด้วย เช่น ชวนกันออกกำลังกาย หรือการสั่งหวานน้อย ลดพฤติกรรมการกินหวาน มัน เค็ม ต้องขอขอบคุณกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย และบริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ที่จัดโครงการดี ๆ แบบนี้ ถือเป็นกิจกรรมต้นแบบที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพไปในทางที่ดีขึ้น สามารถนำไปปฏิบัติต่อปฏิบัติได้จริงและมีเพื่อน มีสังคมในการปฏิบัติ และที่สำคัญมีของรางวัลเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้ที่ปฏิบัติได้ครบภารกิจและมีผลการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปในทางที่ดีขึ้น และมีอุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพให้กับชุมชน อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ ทำให้คนในชุมชนได้ทราบสถานะสุขภาพของตนเอง ที่สำคัญ โครงการนี้เป็นการตอบโจทย์การจัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อการเตรียมความพร้อมวัยทำงานสู่วัยสูงอายุที่มีสุขภาพดี เป็นความหมายของคำว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างแท้จริง

ความสำเร็จของโครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจพิชิตสุขภาพดีในปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบนความมุ่งมั่นเดียวกันคือ สร้างชุมชนรอบรู้สู่สุขภาพที่ดีให้กับทุกคนในชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือ การได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนรวมไปถึงสมาชิกทุกคนที่เห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพอย่างถูกวิธี ตลอดจนการแบ่งปันองค์ความรู้ที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวและชุมชน ร่วมกันสร้างสังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืนด้วยกันต่อไป