กรณี "เรือหลวงนเรศวร" ได้รับความเสียหาย ขณะเทียบท่าเรือ ภายในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ค.66 ขณะที่เรือหลวงนเรศวร กำลังทำการฝึกซ้อมแผนความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ (ISPS CODE) ภายในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 2566 ภายใต้รหัสการฝึก "Naval Security Port and Ship Map Taphut Excercise 2023" (NASMEX 2023) ซึ่งจัดที่มีการฝึกในระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม 2566 ส่งผลให้แท่นยิงตอร์ปิโดและแพชูชีพ ได้รับความเสียหาย ในขณะที่ตัวเรือได้รับความเสียหายเล็กน้อย
สำหรับประวัติของ "เรือหลวงนเรศวร" ต่อขึ้นที่ อู่จงหัว เมืองเซียงไฮ้ วางกระดูกงูเมื่อปี พ.ศ.2534 ทำพิธีปล่อยลงน้ำเดือน พ.ค.2536 ขึ้นระวางประจำการ เมื่อ 15 ธ.ค.2537 เป็นเรือประเภ ทเรือฟริเกต (FRIGATE) ดัดแปลงมาจากเรือฟริเกตแบบ 053 ของจีน ซึ่งกองทัพเรือได้สั่งต่อจาก ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นเรือฟริเกต ลำที่ 5 เป็นเรือที่กองทัพเรือออกแบบใหม่ร่วมกับบริษัท CHINA STATE SHIPBUILDING COORPERATION (CSSC) โดยใช้ระบบอาวุธ และเครื่องจักรส่วนใหญ่ของยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ทำให้มีขีดความสามารถ และประสิทธิภาพในการรบที่ทันสมัย มีระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ ที่ 18 นอต
เรือหลวงนเรศวร ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธบางส่วนที่ทำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นระบบอาวุธที่ได้รับการพัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้นกว่า ที่กองทัพเรือได้เคยมีไว้ใช้งาน เช่น ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ แบบ MIRAGE ระบบโซนาร์ติดตั้งหัวเรือแบบ SJD-7 , ระบบปืน 37 มม. รุ่นใหม่ และเรดาร์ตรวจการณ์อากาศพื้นน้ำ แบบ 360 มีความสามารถในการป้องกันภัย จากสงครามนิวเคลียร์ ชีวะเคมี
อีกทั้ง ยังได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่ของประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา อาทิเช่น เรดาร์ตรวจการณ์อากาศระยะไกล แบบ LW O8 , ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี HARPOON , ระบบควบคุมการยิง แบบ STIR , ปืน 5 นิ้ว มาร์ค 45 , ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ มาร์ค 46 และระบบสนับสนุนการปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งใช้เครื่องยนต์ MTU แบบ 1163 และเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ แบบ LM-2500 เป็นระบบขับเคลื่อนซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในบรรดาเรือฟริเกต ต่าง ๆ ที่กองทัพเรือมีใช้อยู่ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นเรือที่ได้รับการออกแบบตัวเรือได้สวยงามที่สุดตามหลักเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ช่วยลดการสะท้อนคลื่น นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่กองทัพเรือมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากคือ การที่สามารถเชื่อมต่อระบบอาวุธจากหลายประเทศดังกล่าวข้างต้นได้สำเร็จด้วยฝีมือคนไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มีบางประเทศเคยกล่าวว่าเรือลำนี้จะไม่มีทางสำเร็จลงได้
ต่อมา ในปีงบประมาณ2553 กองทัพเรือได้ขออนุมัติกระทรวงกลาโหมดำเนินโครงการปรับปรุงเรือฟริเกตชุด เรือหลวงนเรศวร ซึ่งใช้งานมากว่า 15 ปี ให้มีความทันสมัยและมีความสามารถ ที่จะทำการรบร่วมกับกองทัพอากาศได้อย่างสมบูรณ์ และได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ จึงต้องแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ โครงการระยะที่ 1 (ปีงบประมาณ 2554 – 2557) ลงนามในสัญญาซื้อขาย เมื่อ 3 มิถุนายน 2557 โครงการระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2555 – 2556) และโครงการระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2556 – 2558)
#เรือหลวงนเรศวร