"ทีมสุขภาพจิต" ลงพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก เร่งประเมิน-เยียวยาสภาพจิตใจผู้ประสบเหตุโกดังพลุระเบิด
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต มีความห่วงใยถึงสภาพจิตใจของประชาชนผู้ประสบเหตุ จากกรณีโกดังเก็บดอกไม้เพลิงระเบิด ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ส่งผลให้ตลาดมูโนะ ร้านค้า รวมทั้งอาคารบ้านเรือนของประชาชนเสียหาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงมอบหมายให้ทีมแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เร่งส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) เพื่อดูแลสภาพจิตใจของประชาชนตามแนวทางมาตรฐาน นับตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ มีผู้ได้รับการเยียวยาแล้วกว่า 200 คน
จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าผู้ประสบเหตุและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะตื่นตระหนก จากการเผชิญกับความสูญเสียในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การมีภาวะวิตกกังวล หวาดกลัว เครียด และความเศร้าที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจในระยะยาว จึงต้องเฝ้าระวังต่อไป
ทั้งนี้ ทีม MCATT ได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ,ทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อวางแผนดูแลจิตใจผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังภาวะเครียดฉับพลัน ภาวะซึมเศร้า เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ใช้ยาเสพติดเพื่อเยียวยาตนเอง ในกลุ่มเสี่ยง คอยติดตามผ่านระบบฐานข้อมูล CMS (Crisis Mental Health Surveillance System) ของกรมสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับการดูแลเยียวยาจิตใจตามมาตรฐานภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ จาก ศอ.บต. กระทรวงสาธารณสุข โดยเขตสุขภาพที่ 12 และจังหวัดนราธิวาสต่อไป
ด้าน นายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส สรุปผลการปฏิบัติงานด้านการปฐมพยาบาลและเยียวยาจิตใจ โดยระบุว่า ในพื้นที่ประสบภัยมีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 290 หลังคาเรือน ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 365 ราย สิ่งสำคัญในขณะนี้คือการฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจ โดยจากการประเมินและเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 251 ราย พบว่าอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 63 ราย อายุเฉลี่ย 9 ปี ต่ำสุด 45 วัน สูงสุด 17 ปี กลุ่มอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 188 ราย อายุเฉลี่ย 42 ปี ต่ำสุด 19 ปี สูงสุด 78 ปี ซึ่งพบว่ามีผู้มีภาวะเสี่ยง จำนวน 77 คน ใน 32 ครัวเรือน โดยมีภาวะเครียด จำนวน 60 คน นอนไม่หลับ/ผวาฝันร้าย จำนวน 6 คน ใจสั่น จำนวน 5 คน เหม่อลอย จำนวน 3 คน หวาดระแวง จำนวน 1 คน ซึมเศร้า จำนวน 1 คน โดยมีเด็กอายุ 17 เดือน นอนสะดุ้ง ผวาตลอด จำนวน 1 ราย ซึ่งสำหรับกลุ่มผู้มีสภาวะเครียดจากสถานการณ์นี้ ทีมแพทย์ของหน่วยงานสาธารณสุขจะมีการดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น