Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.26 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.47 บาทต่อดอลลาร์ แกว่งตัว sideway ในกรอบกว้าง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 34.20-34.50 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน หลังการประชุม Politburo ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาซื้อสินทรัพย์จีนอีกครั้ง ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นร้อนแรง ส่วนเงินหยวนจีนก็กลับมาแข็งค่าขึ้น

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตาการประชุมธนาคารกลาง ทั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ BOE พร้อมรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 3.6% สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ตลาดแรงงานอาจลดความตึงตัวลง สอดคล้องกับยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่อาจลดลงต่อเนื่อง ตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ลดลงสู่ระดับ +4.2%y/y ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจคลายกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Amazon, AMD และ Apple เป็นต้น โดยต้องระวังในกรณีที่ตลาดผิดหวังกับรายงานหรือคาดการณ์ผลประกอบการ ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ โดยในกรณีดังกล่าว เราคาดว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่มียีลด์สูง (High Yield Safe Haven) 

▪ ฝั่งยุโรป – สำหรับการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เรามองว่า BOE จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +50bps สู่ระดับ 5.50% (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มอง +25bps สู่ระดับ 5.25%) หลังอัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า BOE จะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตอย่างไร โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สู่ระดับ 5.75%-6.00% ในส่วนภาพเศรษฐกิจนั้น ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอาจยังคงขยายตัวได้กว่า +0.2%q/q หรือ+0.5%y/y หนุนโดยภาพตลาดแรงงานโดยรวมที่ยังคงแข็งแกร่งและทำให้ภาคการบริการของยูโรโซนยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 แม้ว่า ภาคการผลิตอาจยังคงซบเซา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง จากผลกระทบของการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งคาดว่า อาจยังคงอยู่ในระดับสูงราว 5.3% หรือ 5.4% สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ทำให้ ECB ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ภาคการผลิตของจีนนั้นอาจยังคงหดตัวอยู่ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ระดับ 49 จุด ขณะที่ ภาคการบริการอาจขยายตัวต่อเนื่อง ในอัตราชะลอลง สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 53 จุด ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาว่า ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง หลังที่ประชุม Politburo ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจจีน ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 4.35% เพื่อให้สอดคล้องกับภาพอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงมากขึ้นก็ตาม 

▪ ฝั่งไทย – เรามองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 2.25% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง รวมถึงความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ทั้งนี้ เราจะรอติดตามว่า กนง. จะมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตอย่างไรบ้าง โดยหากมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่สิ้นสุด เราก็พร้อมปรับมุมมองใหม่ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจบที่ระดับ 2.50%

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบกว้าง และคงมองว่า เงินบาทจะยังไม่ได้อ่อนค่าไปมาก จนทะลุแนวต้านโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หาก กนง. ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อที่ชัดเจน อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่กลับมาเป็นเทรนด์แข็งค่า จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลผสม

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ ในกรณีที่ 1) เฟดส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่ทั้ง ECB และ BOJ กลับไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยหรือใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) และ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงได้บ้าง หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หรือ 2) ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ในกรณีที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนออกมาน่าผิดหวัง ซึ่งต้องระวังรายงานจากบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่

โดยเราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและภาวะตลาดการเงินในช่วงรับรู้รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.75-34.75 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.40 บาท/ดอลลาร์