นับเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่กรุงเทพมหานครได้ใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ซึ่งนับเป็นระยะเวลาที่ยาวนานหากเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองหลวง ทำให้จำเป็นต้องมีการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้มีผังเมืองรวมที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม กทม.โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจัดทําร่างผังเมืองฯ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่านทั้งประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการรายสาขา องค์กรและสมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผังเมืองรวมที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นผังปรับปรุงครั้งที่ 3 ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2556 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ซึ่งกรุงเทพฯมีการเปลี่ยนแปลงไปมากมายในหลายด้าน จำเป็นต้องปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเมืองปัจจุบัน รวมถึงเตรียมรับอนาคตที่จะเปลี่ยนไปอีกด้วย ทั้งในเรื่องโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ เป็นตัน จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวถึงความแตกต่างของผังเมืองรวมฉบับใหม่ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า ผังเมืองรวมฉบับใหม่นี้จะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากผังเดิมปี 2556 อย่างแน่นอน โดยให้ความสำคัญในหลากหลายมิติ ทั้งด้านธุรกิจ ด้านสังคม ปัญหาจราจร ปัญหาน้ำท่วม ดูไปถึงสังคมรากหญ้าด้วย ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์จากผังใหม่นี้ เป็นการพัฒนาเมืองในภาพรวม และแก้ปัญหาสังคมไปด้วย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการผังเมืองใหม่จะช่วยแก้ปัญหาในหลายๆด้าน ในเรื่องของการใช้พื้นที่โซนต่างๆ การพัฒนาเมืองด้านใน พื้นที่สีแดง สีส้มจะเพิ่มมากขึ้น ส่วนพื้นที่สีเขียวและเขียวลาย จะแก้พื้นที่และใส่เงื่อนไขการใช้พื้นที่ให้มีการใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชานเมือง ลดพื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่มากซึ่งข้อเท็จจริงการทำการเกษตรในกรุงเทพฯ มีปัญหาน้ำหนุน น้ำเค็ม น้ำแล้ง ผลผลิตที่ได้ไม่ได้เพิ่มมูลค่าเท่าที่ควร พื้นที่สีเขียว ที่เดิมทำบ้านจัดสรร บ้านขนาดเล็ก อาคารพานิช ตลาด ห้าง รีสอร์ตไม่ได้ ก็จะใส่เงื่อนไขให้ทำได้แต่มีกำหนดเรื่องขนาดพื้นที่และความสูง จะเกิดการกระจายชุมชนเกิดการสร้างงานตามหัวเมือง เกิดเมืองใหม่ขึ้น มีศูนย์คมนาคมเชื่อมการเดินทางตัวเมืองชั้นในกับชานเมือง อนาคต พื้นที่หนองจอก มีนบุรี มีโอกาสพัฒนาเป็นเมืองใหม่ได้ เหมือนรังสิต ปทุมธานี
นอกจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สีเขียวและเขียวลาย ให้สามารถพัฒนาเป็นเป็นบ้านจัดสรรขนาดเล็ก หรือมีสังคมชุมชนเล็กๆ ทำให้ผุ้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไม่ต้องอพยพไปอยู่ต่างพื้นที่ การเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ ก็จะใกล้ขึ้น สถาบันครอบครับก็จะอบอุ่น และเมื่อลดพื้นที่เขียวลาย ในส่วนพื้นที่รับน้ำ อนาคตในแผนป้องกันน้ำท่วม ของกทม. มีแผนขยายคลอง 3 สาย ในพื้นที่ตะวันออก คือ คลองแปด คลองสิบเอ็ด และคลองสิบสอง จะรับน้ำได้ 300 กว่าคิว จากเดิมที่รับได้ 100 กว่าคิว ก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตะวันออกได้
ส่วนพื้นที่ชั้นใน เกาะรัตนโกสินทร์ จะเปิดโอกาสให้เอกชนพัฒนาได้ เดิมที่คุมเข้มมากเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ก็จะสามารถพัฒนาพื้นที่ของตัวเองดัดแปลงอาคารเก่าได้ รวมถึงพื้นที่สีน้ำเงิน สถาบันราชการ ก็จะเปิดกว้างให้ใช้พื้นที่ได้มากขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่ในโครงการภาครัฐ กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่น ริมคลอง กรุงเทพฯมีผู้บุกรุกใน 1,000 กว่าคลอง ก็จะใช้พื้นที่สีน้ำเงิน มาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยอพยพคนขึ้นจากริมคลอง โดยประสานกับ พอช.สร้างบ้านมั่นคง ไม่จำเป็นต้องไปสร้างบ้านริมคลอง ภูมิทัศน์จะดีขึ้น คลองรับน้ำได้มากขึ้น เป็นมุมมองในการพัฒนาเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง
กรุงเทพมหานคร ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมือง ให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมีแนวคิดการวางผังด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1.ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งอุตสาหกรรมและคลังสินค้า แหล่งอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ 2.ด้านพื้นที่โล่ง มีแนวคิดกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวประเภทสวนสาธารณะ ทั้งในระดับเมือง ย่านและชุมชน รวมทั้งพื้นที่สีเขียวริมถนน และริมแม่น้ำ 3.ด้านการคมนาคมและการขนส่ง กำหนดให้มีถนนสายประธาน ถนนสายหลัก และถนนสายรอง รองรับโครข่ายที่มีความสมบูรณ์ ตลอดจนการพัฒนาบริเวณพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร รวมถึงการเชื่อมต่อ การคมนาคมและการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ โดยมีศูนย์คมนาคม 3 ศูนย์ ได้แก่ บางซื่อ มักกะสัน และวงเวียนใหญ่
4.ด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ มีแนวคิดกำหนดที่ตั้งโครงข่ายและขอบเขตพื้นที่การให้บริการระบบสาธารณูปโ ภค ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ และที่ตั้งของสาธารณูปการขั้นพื้นฐานระดับเมือง เช่น สวนสาธารณะ สถานศึกษา 5.ด้านแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดแผนผังของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมในผังเมืองรวมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้มีบริเวณพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นที่เพื่อการเกษตร และพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของซาติและท้องถิ่น 6.ด้านบริหารจัดการน้ำ มีแนวคิดกำหนดให้มีระบบการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาและสร้างความเป็นธรรมแก่ภาคเอกชนและประชาชน เช่น มาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน ( FAR Bonus) มาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (TDR) และมาตรการวางผังโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (PUD) เป็นต้น
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ที่ปรึกษาด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน กล่าวว่า หลักการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือการปรับโครงสร้างของเมืองให้สอดคล้องไปกับการพัฒนาระบบราง โดยให้เกิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณใกล้สถานีระบบขนส่งมวลชน เช่นสร้างที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียมการกำหนดความสูงจำนวนชั้น มีผลกับจำนวนประชากรที่จะไปอาศัยอยู่ ในระยะให้บริการของสถานี ก็จะมีโอกาสเกิดใช้ระบบขนส่งระบบรางมากขึ้น โดยต้องทำให้ที่อยู่อาศัยและพื้นที่เป้าหมายของการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในระยะที่เดินทางได้เหมาะสมด้วยระบบขนส่งมวลชน จะลดปัญหารถติด ลดคาร์บอน และคุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น สะดวก ปลอดภัย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม จัดระเบียบโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เหมาะสมกับสภาพเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการวางผังอนาคต ที่จะรองรับจำนวนประชากรของกรุงเทพฯ ที่จะเพิ่มขึ้นราว 2 ล้านคนในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องมีการพัฒนาพื้นที่ทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งงาน แหล่งพาณิชยกรรม