ปิดฉากการอบรมโครงการสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ "สารต้องห้ามกีฬา" ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่นักกีฬา โค้ช และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬา วิทยากร WADA แจ้งเตือนอัพเดตเช็กลิสต์สารต้องห้ามทุกปี พร้อมศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งองค์กรในประเทศ แพทย์ และเภสัชกร เพื่อช่วยป้องกันนักกีฬา ชี้บทโทษสุดรุนแรงหากถูกตรวจเจอสารโด๊ป

นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานในพิธีปิดการอบรมโครงการสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พร้อมกับมีพิธีมอบใบประกาศนียบัตร โดยมี นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยสากลอาชีพแห่งประเทศไทย และรองประธานสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA), นายชนาสิน สิมะดำรงค์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) และนายธีรวัฒน์ ศิลปอาชา ผู้อำนวยการกองส่งเสริมพัฒนากีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมมอบใบประกาศนียบัตรให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม ทั้งนักกีฬา โค้ช และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬา ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกับ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) และสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย จัดการอบรมโครงการสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ ให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม ทั้งนักกีฬา โค้ช และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬา เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสารต้องห้าม และนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดในองค์กร เช่น หากโดนสุ่มเก็บตัวอย่าง จะต้องเข้าใจกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ให้ละเอียด สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง หากพิสูจน์ความผิดพบว่าจริง ก็จะมีบทลงโทษคือ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬา ถือว่ารุนแรงมาก

สำหรับการอบรมวันสุดท้ายยังคงอัดแน่นไปด้วยการบรรยายให้หัวข้อต่างๆ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสารต้องห้ามอย่างถูกต้องจากวิทยากรที่มีความรู้ด้านสารต้องห้ามอย่าง องค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ทั้งในและต่างประเทศ สร้างความใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬาทุกส่วน สามารถนำความรู้ความเข้าใจไปเผยแพร่สู่องค์กรตัวเองได้อย่างถูกต้อง และเห็นถึงความสำคัญในการได้รับบทลงโทษ

การอบรมในช่วงเช้าได้มีการบรรยายในหัวข้อ Covid-19 Force Majeure and Safeguarding หรือ โควิด-19 เหตุสุดวิสัยและการป้องกัน บรรยายโดย Mervyn Tan ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากนั้นในช่วงบ่ายได้มีการบรรยายในหัวข้อ Nutrition หรือโภชนาการ บรรยายโดย Janice Lynn

Janice Lynn กล่าวในการบรรยายว่า สารต้องห้ามการกีฬาก็จะมีทั้งสารต้องห้ามที่ห้ามใช้ตลอดเวลา, ระหว่างการแข่งขัน และหลังการแข่งขัน โดยสารต้องห้ามสำคัญก็มีทั้งยาประเภทเทสโทสเตอโรน (Testosterone), กลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) และสารอื่นๆ ซึ่งทาง WADA จะมีการอัพเดตทุกปีในวันที่ 1 มกราคม และจะแจ้งอัพเดตสารต้องห้ามใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคมก่อนขึ้นปีใหม่ เพื่อให้ผู้เกี่ยวของได้ทำความคุ้นเคยก่อน และตรวจสอบวิธีการใช้ยา หรืออาหารเสริมของนักกีฬา

Janice Lynn กล่าวอีกว่า ในทุกปี WADA จะมีการอัพเดตเพิ่งเพิ่มตัวสารต้องห้ามสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นเราควรจะต้องตรวจสอบตัวยาที่อัพเดตอยู่เสมอจากทางเว็บไซต์ของ WADA รวมทั้งเราจะต้องศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งองค์กรสารต้องห้ามในประเทศ และการพูดคุยกับแพทย์ และเภสัชกร ในการช่วยดูผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสารต้องห้ามหรือไม่ เพื่อสร้างความรอบคอบให้กับนักกีฬาคิดให้ดีก่อนการกินยา และอาหารเสริมต่างๆ

"สำหรับบทลงโทษของนักกีฬาที่ถูกตรวจพบสารต้องห้ามก็จะมีทั้งยกเลิกผลการแข่งขันของนักกีฬา ริบเหรียญรางวัล ลงโทษแบนจากการแข่งขัน ซึ่งจะมีผลเสียรุนแรงต่อตัวนักกีฬาเป็นอย่างมาก และส่งผลต่ออาชีพในการเป็นนักกีฬาอีกด้วย เพราะจากความผิดเรื่องสารต้องห้ามก็อาจจะมีผลลงโทษทางด้านกฏหมาย และมีการลงโทษปรับเงินอีกด้วย"

ตามด้วยหัวข้อเรื่อง Safeguarding Part 2 หรือ การปกป้องตนเอง ตอนที่ 2 บรรยายโดย Jamie Tucker ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และหัวข้อเรื่อง Human Trafficing in sports and report about Muaythai หรือ การค้ามนุษย์ในวงการกีฬาและรายงานเกี่ยวกับมวยไทย บรรยาย โดย Larina Bright ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ปิดท้ายด้วยการกล่าวสรุปโดย มร.สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA)