ทหารประชาธิปไตย
เมื่อนางเยลเลน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนจีน และเข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เป้าหมายสำคัญก็คือ การขอให้จีนซื้อพันธบัตร สหรัฐฯ รุ่นใหม่ ที่จำต้องออกมาด้วยวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ หนึ่งเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะงบกลาโหมที่เพิ่มขึ้นมากในรัฐบาลไบเดน คือ ประมาณ 900,000 ล้านดอลลาร์ สองเพื่อทำการชำระหนี้บางส่วนเพราะสหรัฐฯไม่มีความสามารถจะใช้หนี้ได้ด้วยรายได้ของตนเอง เนื่องจากจำนวนหนี้ใกล้เคียง และอาจเกินจากรายได้ประชาชาติ (GDP) สาม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญคือต้องกู้มาชำระดอกเบี้ยที่นับวันจะเป็นภาระหนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ดูได้จากการที่เฟดเพิ่มดอกเบี้ยจาก 0.25 จนมาถึง 5.25 ภายในปีเดียว
อีกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องแรก ที่นางเยลเลน จะมาเจรจาคือการมาขอร้องมิให้จีนเทขายพันธบัตรที่จีนมีอยู่ประมาณ 800,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิมเคยถือไว้ 1.1 ล้านดอลลาร์ โดยมีญี่ปุ่นกลายมาเป็นผู้ถือพันธมิตรอันดับ 1 คือ 900,000 ล้านดอลลาร์
เพราะถ้าจีนเทขายพันธบัตรสหรัฐฯออกไปจะทำให้ราคาพันธบัตร ในตลาดลดต่ำลง ทำให้ดอกเบี้ยยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ทว่าจีนได้ปฏิเสธทั้ง 2 กรณี เพราะจากมุมมองของจีนหากสนับสนุนการร้องขอก็เท่ากับสนับสนุนงบกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งจะกลายมาเป็นภัยคุกคามจีน
นอกจากนี้ในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ BRICS ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จะมีการประกาศใช้เงินสกุล BRICS ซึ่งจะหนุนหลัง โดยทองคำจากการลงขันของประเทศสมาชิก และจะใช้เป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน ซึ่งสามารถมาแทนดอลลาร์สหรัฐฯ ได้บางส่วน ซึ่งนั่นจะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง จนมีผลทำให้ไปซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และนั่นก็จะทำให้ FED ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก อันไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมจนอาจทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ และหากยังคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ก็จะเกิดสภาพ STAGFLATION คือ เศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อในเวลาเดียวกัน แม้ว่าตัวเลขในขณะนี้ยังไม่บ่งชี้ไปถึงขนาดนั้น
การตอบปฏิเสธนางเยลเลน ของ สี จิ้นผิง จึงเสมือนกับการประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และก็อย่างที่รู้กันอยู่สหรัฐฯมีอายุมาประมาณ 200 ปีเศษ และเกี่ยวข้องกับสงครามถึง 100 กว่าครั้ง เทียบแล้วก็ 2 ปีครั้ง โดยในระยะหลังๆจะเป็นสงครามนอกประเทศที่ไม่กระทบโดยตรงกับภายในประเทศ
หากเกิดสงครามในครั้งนี้สหรัฐฯก็คงถือโอกาสล้างหนี้และยึดเงินสำรองของจีนที่ฝากอยู่สหรัฐฯหรือยุโรปไปด้วย มากน้อยยังไม่มีตัวเลข คาดว่าหลายแสนล้านทั้งภาครัฐและเอกชน
แต่การที่สหรัฐฯคิดทำสงครามกับจีนนั้น มิใช่การตัดสินใจแบบกะทันหัน ทว่ามีการวางแผนมานานนับสิบปี และกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติที่ถือว่าจีนคือภัยคุกคามอย่างเป็นระบบ
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ โครงการ AUKUS ที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) และออสเตรเลียร่วมมือกันจัดสร้างและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์
เป้าหมายหลัก คือ ในเวลาไม่นานไม่เกิน 7 ปี ออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร
รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียได้ยืนยันสถานะทางการเงินของการที่ออสซี่จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ในการใช้จ่ายทางการทหารเรือ โดยก่อนหน้านี้ออสเตรเลียได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสเป็นมูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์ เพื่อจัดสร้างเรือดำน้ำ 10 ลำ แต่ก็ยกเลิกในเวลาต่อมา ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมาก
ในครั้งนี้นาย Jim Chalmers กล่าว่าใน 32 ปีข้างหน้าออสเตรเลียจะต้องจ่ายเงินมากถึง 245 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ของค่าใช้จ่ายทางทหารที่ปรากฏในโลกต่อโครงการเดียว แม้จะเป็นการแบ่งชำระเป็นงวดๆตลอด 32 ปี แถมการเสื่อมเสียเครดิตระหว่างประเทศที่ผิดสัญญาฝรั่งเศส
เบื้องต้นออสเตรเลียจะได้รับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ ระดับชั้นเวอร์จิเนียจำนวน 3 ลำ และอีก 2 ลำเป็นทางเลือกภายในปี 2030 และในระยะยาวกว่านั้นคือ ภายในปี 2040 สหราชอาณาจักรจะส่งมอบเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์รุ่นใหม่ให้กองทัพเรือออสเตรเลียอีก 1 ลำ
ผู้สันทัดกรณีมองว่าในระยะเวลาต่ำกว่า 10 ปี สหรัฐฯไม่มีทางสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ระดับชั้นเวอร์จิเนียได้ถึง 5 ลำ ดังนั้นความเป็นไปได้คือ ออสเตรเลียจะได้รับมอบเรือดังกล่าวที่เป็นของเก่าของกองทัพเรือสหรัฐฯ
ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงต้นของปี 2030 จะเป็นช่วงที่เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นเวอร์จิเนียรุ่นแรกๆ ได้กำหนดเข้าซ่อมใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ที่ออสเตรเลียจะได้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มือสอง ซึ่งในกระบวนการนี้ก็อาจมีการตกลงกันใหม่ ด้วยเหตุผลว่าออสเตรเลียจะจ่ายเงินน้อยกว่าเดิม และได้ของเร็วขึ้น
แม้ว่าโครงการเรือดำน้ำชั้นเวอร์จิเนียจะดูสมเหตุสมผล เพราะสามารถสนองต่อความต้องการของกองทัพเรือออสเตรเลียได้ แต่เรือดำน้ำทางเลือกอีก 2 ลำนั่นสิ มันดูคลุมเครือ เพราะไม่มีรายละเอียดระบุชนิด ระดับชั้นกำหนดการดำเนินการ การส่งมอบ การชำระเงิน หรือ สหรัฐฯจะมีเรือดำน้ำพร้อมส่งมอบเตรียมไว้แล้ว
จากการพิจารณาเรื่องการชำระเงิน เรือดำน้ำ 3+2 นั้น มันคงเกินความสามารถของออสเตรเลียที่จะชำระเงิน ภายในเวลาที่รับมอบ
นอกจากนี้ยังต้องเตรียมฝึกลูกเรือให้พร้อมปฏิบัติการ พร้อมกันนี้ออสเตรเลียก็ต้องจัดเตรียมโรงงานนิวเคลียร์เพื่อบริการเรือดำน้ำดังกล่าว 3 ถึง 5 ลำ โดยที่ก็ยังไม่อาจจะกำหนดงบประมาณได้ลงตัว
อย่างไรก็ตามแผนการติดปีกออสเตรเลียด้วยการมอบเรือดำน้ำระดับเวอร์จิเนีย จะทำให้กำลังทางทะเลของสหรัฐฯ ซึ่งมีฐานทัพเรือดำน้ำอยู่ในสหรัฐฯ และที่ออสเตรเลียในขีดความสามารถที่ใกล้เคียงกัน และสนธิกำลังเป็นกองเรือดำน้ำใน อินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะจะทำให้สมุทรานุภาพของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก หากเกิดสงครามกับจีน เพราะเรือดำน้ำเหล่านี้สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ทั้งหมด
แต่นอกเหนือจากนั้นสหรัฐฯ ยังได้รับเงินอีกจำนวนมาก จากการขายเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย ลดความเสี่ยงของการดำเนินการตามโครงการเพียงลำพัง และประการสุดท้ายกองทัพเรือออสเตรเลียจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐฯ
กล่าวโดยสรุปไม่ว่าสหรัฐฯจะเข้าสู่สงครามหรือไม่สหรัฐฯก็มีรายได้จากการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ และยิ่งทำการรบนอกประเทศสหรัฐฯก็จะปลอดพ้นจากความเสียหายภายในประเทศตน จากภัยสงคราม ยกเว้นสงครามนิวเคลียร์
ในอีกด้านหนึ่งเมื่อสหรัฐฯ ทำสงครามเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายแซงก์ชั่น ทำให้ยุโรป เอเชียต่างก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจาก Supply Chain Disruption นั่นคือการขาดแคลนอุปกรณ์ชิ้นส่วน สินค้า โดยเฉพาะ Micro Chip
แต่สหรัฐฯจะได้เงินเพิ่มมากขึ้นจากการขายอาวุธยุทโธปกรณ์น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
ส่วนกรณีการไม่เข้าร่วมลงขันจัดสร้างเงิน BRICS ของอินเดีย เพราะไม่ต้องการขัดใจสหรัฐฯ และอินเดียก็ยังได้ประโยชน์จากทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนเงิน BRICS ก็อาจไม่มีปัญหาในการขยายตัวเพราะกลุ่มเศรษฐีตะวันออกกลางพร้อมจะลงขันเพื่อเป็นทางเลือกต่อความมั่นคงทางการเงินของตน ตามด้วยกลุ่มประเทศสนธิสัญญาความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)
อนึ่งความตึงเครียดในเอเชียเพิ่มขึ้นด้วยการซ้อมรบทางทะเลรัสเซีย-จีน และตามด้วยสหรัฐฯส่งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ไปเกาหลีใต้ 2 ลำ โดยลำหนึ่งติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ไทรเด๊น ทำให้เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธท้าทาย
สัญญาณเหล่านี้ควรที่รัฐบาลไทยต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง