กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB FM) มองว่า เงินบาทในช่วงที่ผ่านมาผันผวนสูง เป็นผลจาก 1) ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐตามมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed 2) เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอทำให้เงินหยวนอ่อนค่า และ 3) ปัจจัยทางการมืองซึ่งส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายสู่ไทย โดยเงินบาทในระยะสั้นนี้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว เงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่น่าจะไหลกลับเข้ามาได้ แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หรือเกิดการประท้วงเป็นวงกว้าง เงินบาทก็อาจอ่อนค่าเร็ว ด้านอัตราดอกเบี้ย มองว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps มาอยู่ที่ 2.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจกลับมาสูงขึ้นได้ ทั้งจากสถานการณ์เอลนีโญหรือราคาน้ำมันที่กลับมาสูงขึ้น
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทในช่วงที่ผ่านมาผันผวนสูงขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1) การขึ้นดอกเบี้ยและการสื่อสารของ Fed โดยล่าสุดแม้จะขึ้นดอกเบี้ยมาที่ 5.50% ตามที่ตลาดคาด แต่ก็ยังไม่บอกว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ ทำให้นักลงทุนมองว่า Hiking cycle น่าจะจบลง เงินดอลลาร์จึงอ่อนค่ากดดันให้บาทแข็งค่า 2) ราคาทองคำ โดยในเวลาที่ราคาทองคำสูงขึ้น ผู้ค้าทองคำไทยมักขายทองคำในตลาดโลกเพื่อทำกำไร จึงมีการแลกดอลลาร์เป็นเงินบาท กดดันให้บาทแข็งค่า 3) ทิศทางค่าเงินหยวน โดยในเวลาที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาอ่อนแอกว่าคาด เงินหยวนจะอ่อนค่า กดดันบาทอ่อนตาม และ 4) ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายสู่ตลาดการเงินไทย
นายแพททริก กล่าวต่อว่าสำหรับในสำหรับในระยะสั้นนี้ สถานการณ์การเมืองไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเงินบาท โดยมองว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลทำได้เร็ว เงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่น่าจะไหลกลับเข้ามาได้ โดยอาจเห็นเงินทุนไหลเข้าไทยกว่าแสนล้านบาทใน 1 เดือน (คล้ายปี 2019) ซึ่งในกรณีนี้ แนะให้ลูกค้ากลุ่มผู้ส่งออกทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่กรอบ 33.90-34.30 ส่วนผู้นำเข้าอาจรอซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐหลังมีความแน่นอนในเรื่องนายกฯ โดยมองที่กรอบราว 33.35-33.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หรือเกิดการประท้วงเป็นวงกว้าง เงินทุนอาจไหลออกในช่วงที่ความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าเร็วได้ อีกทั้ง แม้หลังได้นายกฯ เงินทุนก็อาจไหลกลับน้อยกว่ากรณีแรก ทำให้เงินบาทแข็งค่าน้อยกว่า จึงแนะให้ลูกค้ากลุ่มผู้ส่งออกอาจตั้ง Target ขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่กรอบราว 34.50-35.20 ได้ ส่วนลูกค้ากลุ่มผู้นำเข้าอาจพิจารณาซื้อ Forward ที่ราคา spot ราว 34.00 เพื่อปิดความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่าเร็ว
ด้านอัตราดอกเบี้ย นายแพททริกมองว่า ในการประชุม กนง.สัปดาห์หน้า คณะกรรมการน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps มาอยู่ที่ 2.25% โดยแม้เงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่ผ่านมาจะปรับลดลงเร็วและต่ำกว่ากรอบนโยบาย แต่คาดว่า กนง.จะยังขึ้นดอกเบี้ย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจกลับมาสูงขึ้นได้ โดยปัจจัยเสี่ยงมาจาก 1) เอลนีโญและมาตรการระงับการส่งออก ที่อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรเร่งตัวขึ้น และ 2) ราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงแนะให้ลูกค้าที่กังวลว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อไปถึง 2.50% อาจพิจารณาทำธุรกรรม Pay fixed rate ที่ระดับปัจจุบันราว 2.30-2.35%