เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 27 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ซึ่งมีนายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมือง และรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

โดยนายสมบูรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมตรีได้ในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ และอาจจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ที่จะทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศต้องสะดุดลงอีกครั้ง การใช้กลไกของรัฐสภาเป็นทางออกต่อเรื่องนี้ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยความกล้าหาญ และความเที่ยงตรง ในการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาเป็นที่ตั้ง โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญ และฉันทามติของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์พวกมากลากไป ดังที่เกิดขึ้นในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา อันเป็นเพราะความไม่ชัดเจน และไม่กล้าวินิจฉัยต่อข้อถกเถียงที่ว่าด้วยการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดไว้ หากแต่ปล่อยให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภามีสถานะเหนือกว่า จนทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งในแวดวงนักกฏหมายและสังคมทั่วไป

ทั้งนี้ กป.อพช. มีความเห็นว่าการทำหน้าที่ของสส. และสว. อันเป็นองค์ประชุมร่วมในรัฐสภา จะเป็นหนทางเดียว ที่จะแก้ไขปัญหาการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ได้ และจะต้องเป็นการทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่ต้องไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ ทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วในมาตรา 114 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ท่านทั้งหลายจะต้องตระหนักต่อการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะต้องไม่ปฏิเสธฉันทามติของประชาชนจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66

กป.อพช. จึงขอเรียกร้องผ่านมายังประธานรัฐสภา เพื่อสื่อสารและตอกย้ำไปยังสส. และสว. ให้ทำหน้าที่อย่างไร้อคติและไร้การชี้นำทางการเมืองจากอำนาจอื่นใด และจงใช้กลไกของระบอบประชาธิไตยเป็นทางออก ก่อนที่อำนาจนอกระบบจะเข้ามาแทนที่