วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนไร้บ้านของ กทม. ครั้งที่ 1/2566 ว่า กทม.มีโครงการสร้างพื้นที่การจ้างงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านคนไร้บ้านสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยโครงการดังกล่าวอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หลายหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อน มีวัตถุประสงค์ คือ 1.สร้างพื้นที่ในการจ้างงานคนไร้บ้านและกลุ่มคนจนเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอาจตกเป็นคนไร้บ้านในภายหลังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2.สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการมีที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน 3.พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การเข้าถึงปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต 5.ลดจำนวนประชากรคนไร้บ้านในพื้นที่ราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร และป้องกันการเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่จากกลุ่มคนจนเมืองที่เปราะบาง

 

ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้คนไร้บ้านและคนจนเมืองในกรุงเทพมหานคร อย่างน้อย 100 คน สามารถเข้าถึงอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิต และสุขอนามัยที่ดีได้ รวมถึงการนำคนไร้บ้านเข้าสู่โปรแกรมการเช่าที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เพื่อลดจำนวนประชากรคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ป้องกันการเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่

 

นายศานนท์ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือการคืนสิทธิ์ให้คนไร้บ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นครบวงจร ปีที่ผ่านมา กทม.ทำเฉพาะจุดบริการสวัสดิการสังคม (Drop in) แต่ยังมีมิติเรื่องอื่น ๆ เช่น อาชีพ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย ที่ยังต้องทำให้สมบูรณ์ รวมถึงการทำบ้านอิ่มใจที่เพิ่งได้รับงบประมาณปี 2567 ซึ่งทั้งหมดกำลังดำเนินการให้ครบวงจรในไม่ช้า โดยมีหลายมูลนิธิมาช่วยด้านต่าง ๆ เช่น การแจกข้าว การดูแลสุขภาพ และการจัดที่อยู่อาศัย สร้างชุมชนคนไร้บ้าน เหล่านี้จะช่วยให้คนไร้บ้านที่ขาดสิทธิ์สามารถไปต่อได้ พร้อมกันนี้ ยังมีแผนทำโครงการบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยต่อเนื่องไปด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการดูแลด้านจิตเวช โดยบูรณาการกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 5 แห่ง แต่ยังขาดกำลังด้านการแพทย์ โดย กทม.อาจสนับสนุนด้านการแพทย์เพื่อพัฒนาศูนย์ดังกล่าวให้สมบูรณ์มากขึ้น รวมถึง มีการดูแลด้านความปลอดภัยตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยสำนักเทศกิจอย่างเข้มข้น เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ

 

นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไร้บ้านเข้าทำงานกับมูลนิธิฯกว่า 60 คน ตามหน้าที่ต่าง ๆ เช่น คัดแยกขยะ งานรับจ้างทั่วไป โดยในอนาคตจะส่งเสริมอาชีพแม่บ้านสำหรับผู้สูงอายุสามารถทำได้ ทั้งนี้ การจ้างงานปัจจุบันอยู่ที่วันละ 500 บาท เพื่อต้องการให้คนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ โดยโดยมูลนิธิฯสนับสนุนค่ามัดจำและค่าเช่าห้องเดือนแรกให้ รวมถึงอุปกรณ์พื้นฐานภายในห้องเช่า เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถตั้งตัว มีอาชีพ มีรายได้ กลับสู่สภาวะคนปกติอย่างถาวร

 

สำหรับการให้บริการคนไร้บ้านของ กทม.กับภาคีเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2566 ที่บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และบริเวณตรอกสาเก ประกอบด้วย ให้คำแนะนำสิทธิสวัสดิการ 1,249 ราย ให้อาหารทุกวัน 115,430 ชุด ตรวจสุขภาพ 1,131 ราย จ้างงานโดยศูนย์คุ้มครองฯและมูลนิธิกระจกเงา 169 ราย ทำบัตรประชาชน 80 ราย ย้ายสิทธิรักษาพยาบาล 257 ราย บริการซักอบอาบ 960 ราย ตัดผม 438 ราย ส่งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 5 ราย ส่งกลับภูมิลำเนา 10 ราย โดยข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2566 กรุงเทพมหานคร มีคนไร้บ้านจำนวน1,271 คน รองลงมาคือจังหวัดชลบุรีมี 126 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องรายได้และเศรษฐกิจเป็นหลัก