สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 92.53 ลดลงร้อยละ 5.24 สำหรับ 6 เดือนแรกปี 66 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 95.73 ลดลงร้อยละ 4.60 รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้การบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวจากการท่องเที่ยวฟื้น ระบุอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เติบโตต่อเนื่อง คาดปีนี้ผลิตทะลุ 2,100,000 คัน ตอบรับความต้องการตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 92.53 ลดลงร้อยละ 5.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.12 ด้าน MPI ไตรมาส 2 ปี 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90.14 ลดลงร้อยละ 5.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงอ่อนแอ รวมถึงรายได้เกษตรกรในเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงร้อยละ 5.99 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ดี การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังคงทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สุรา กาแฟ
สำหรับดัชนี MPI 6 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 95.73 ลดลงร้อยละ 4.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิต 6 เดือนแรกปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.72 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.23 จากการผลิตรถยนต์นั่งเป็นหลัก รวมทั้งตลาดส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.76 เนื่องจากปีนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88 เป็นผลจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.61 เนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจักรยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.96 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
ส่วนประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้คือ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ที่สำคัญของโลก การส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทย เป็นอันดับ 4 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 2,974 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรกคือ เบลเยี่ยม จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ได้แก่ ตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่ มีกําลังซื้ออย่างต่อเนื่อง นโยบายการส่งเสริมการลงทุน โดยให้การส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบมากกว่า 248 ซีซี. ของบริษัทรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ของต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยมี Supply Chain ตลอดห่วงโซ่ และแรงงานในประเทศที่มีทักษะฝีมือในด้านการผลิต และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีการคาดการณ์ ในปี 2566 ว่าจะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ 2,100,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,750,000 คัน และผลิตเพื่อการส่งออก 350,000 คัน
โดยในเดือน ส.ค.66 สศอ.เตรียมปรับคาดการณ์ MPI ภาคอุตสาหกรรมปี 2566 คาดว่าจะติดลบและต่ำกว่าปี 2565 (เดิมคาดการณ์อยู่ที่ 0.0-1.0%) เนื่องจากมองแนวโน้มในครึ่งปีหลังต่ำลง หลังมีหลายปัจจัยรุมเร้า โดยจากความกังวลของผู้ประกอบการทั้งเรื่องราคาพลังงานสูง ดอกเบี้ยสูง มาตรการประเทศคู่ค้า รวมทั้งมาตรการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจชะลอ เพื่อรอรัฐบาลใหม่
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนมิถุนายน 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
-ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.37 จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออกสำคัญ เช่น เอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป เป็นต้น
-พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.64 จากผลิตภัณฑ์ Polyethylene resin, Ethylene และ Benzen เป็นหลัก จากการเร่งผลิตชดเชยหลังการหยุดซ่อมบำรุงในช่วงเดือนก่อนหน้า รวมถึงการหยุดผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน
-จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.88 เ นื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
-ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.64 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการใช้หลังการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากปีก่อนกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น
-น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.35 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและกากน้ำตาล เป็นหลัก เนื่องจากการปิดหีบเร็วกว่าปีก่อนทำให้สามารถละลายน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายชนิดต่างๆ เพื่อส่งมอบได้มากกว่าปีก่อน