วันที่ 27 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า...

กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แถลงการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของประเทศไทย อายุ 150 ล้านปี

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดแถลงข่าว ผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis) โดยมีนางภาวินี ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วยนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ และดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กรมทรัพยากรธรณี และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 13 ของประเทศไทย มีชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ถูกพบในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) พบในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ก่อนหน้านี้มีการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 7 ชนิด และไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นชนิดที่ 8 จากแหล่งภูน้อย อีกทั้งเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวแรกในพื้นที่อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ ที่มีโครงกระดูกสมบูรณ์ที่สุดตัวหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลากหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น อาทิ ปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานบินได้ หอยน้ำจืด และไม้กลายเป็นหิน รวมถึงไดโนเสาร์ทั้งสายพันธุ์กินพืช-กินเนื้อ ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 8 สายพันธุ์ ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีการพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 ทั้งนี้ คาดว่ายังคงมีซากดึกดำบรรพ์อยู่ใต้ชั้นหินอีกจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบการบูรณาการร่วมกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมอื่นอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์จะช่วยส่งเสริมให้อุทยานธรณีกาฬสินธุ์เป็นอุทยานธรณีในระดับประเทศต่อไปได้

 

 

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : เพจเฟซกรมทรัพยากรธรณี