ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจ FTI Poll กังวลตั้งรัฐบาลช้า ฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “ประเด็นกังวลที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง 2566” ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2566 และส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงหากการชุมนุมประท้วงของประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ตอนนี้เราต้องอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านปัจจัยภายนอกประเทศ ส.อ.ท.ยังคงกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน ที่จะส่งผลทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวในยุโรปที่จะทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น  

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเทียบกับครึ่งปีแรก 2566 ว่ายังคงทรงตัวจากต้นปีจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจไทย ดังนั้นผู้บริหาร ส.อ.ท.คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบในทุกระดับ โดยเฉพาะวิธีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth) รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของ SMEs และหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ลดภาระผู้ประกอบการรายเล็ก และช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องด้านการเงินในระบบเศรษฐกิจไทย

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 258 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

1.ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังเรื่องใด (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : ปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศที่อยู่ระดับสูง ส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าลดลง 78.3%

อันดับที่ 2 : สงครามรัสเซีย–ยูเครนที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งท่าทีของสมาชิก NATO ที่ส่งผลทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น 58.5%          

อันดับที่ 3 : เศรษฐกิจจีนชะลอตัวหลังเปิดประเทศ และความเสี่ยงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ 51.2%

อันดับที่ 4 : ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 39.1%

 

2.ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเรื่องใด (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 81.0%

อันดับที่ 2 : ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงทั้งจากค่าไฟฟ้า พลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง76.4%

อันดับที่ 3 : กำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 64.3%

อันดับที่ 4 : อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน และปัญหา NPL ที่เพิ่มมากขึ้น 54.7%

 

3.ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่อาจล่าช้าในเรื่องใด (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : การชุมนุมประท้วงของประชาชน และความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้ความรุนแรง 69.8%  

อันดับที่ 2 : ภาคเอกชนชะลอการลงทุน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ  66.7%

อันดับที่ 3 : ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน  65.1%

อันดับที่ 4 : ความเสี่ยงในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ 56.6%

 

4.สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องรีบดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : สร้างกลไกให้ภาคเอกชนมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบในทุกระดับ 68.6% 

อันดับที่ 2 : เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของ SMEs และหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) 57.8%

อันดับที่ 3 : บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ 57.8%

อันดับที่ 4 : เร่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงาน เพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ 55.4%

5.ภาคอุตสาหกรรมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เทียบกับครึ่งปีแรก 2566 ไว้อย่างไร

อันดับที่ 1 : ทรงตัว 52.0%      

อันดับที่ 2 : แย่ลง  43.0%

อันดับที่ 3 : ดีขึ้น     5.0%