กรมประมงหนึ่งในหน่วยงานที่สนองงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการประมงสู่เด็กและเยาวชน พระองค์ทรงมีแรงบันดาลใจจากการเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารได้ทราบถึงปัญหาความยากจนและความทุกข์ยากลำบากของประชาชนด้วยพระองค์เอง ได้ทรงพบเด็กที่ขาดสารอาหาร ควบคู่กับการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ อาทิ โรคอุจจาระร่วง พยาธิลำไส้ ไข้หวัด ฯลฯ และด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กด้อยโอกาสในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พระองค์จึงได้เริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีโอกาสได้รับความรู้และฝึกฝนตนเอง สามารถพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้จัดทำโครงการสนับสนุนด้านการประมงตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้ดำเนินงานในสถานศึกษาตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยได้ดำเนินการสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านการประมงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของโรงเรียน การลงพื้นที่อบรมให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านโภชนาการและสาธิตการแปรรูปสัตว์น้ำ การสร้างช่องทางการตลาด ตลอดจนติดตามและให้คำแนะนำทักษะด้านการจัดการการผลิตและการจัดการผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ให้แก่ครู เด็กนักเรียน เยาวชน และราษฎรในชุมชน ได้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงจากแหล่งผลิตอาหารจำพวกโปรตีนจากสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ให้คงความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทุกโครงการฯ ต่างได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ๓ โครงการที่โดดเด่น ได้แก่
๑. โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน : โครงการที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ และในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ กรมประมงได้ร่วมดำเนินกิจกรรมประมงโรงเรียนภายใต้โครงการดังกล่าว โดยสนับสนุนงานด้านการประมงตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียน การสอน เสริมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียน ที่สำคัญโรงเรียนสามารถนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในถิ่นทุรกันดารได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย ปัจจุบันกรมประมงดำเนินการในสถานศึกษา ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๙) โดยในปีพ.ศ. ๒๕๖๖ ตั้งเป้าหมายดำเนินการกิจกรรมประมงโรงเรียนในสถานศึกษา และรูปแบบกิจกรรมในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ ดังนี้
๑. กิจกรรมประมงโรงเรียน ตั้งเป้าหมายดำเนินกิจกรรมในสถานศึกษา จำนวน ๗๑๙ แห่ง
๒. กิจกรรมฝึกอบรม แบ่งเป็น
๒.๑ กิจกรรมอบรมให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน ๙๑ แห่ง เยาวชนเป้าหมาย จำนวน ๙๑๐ ราย
๒.๒ กิจกรรมอบรมให้ความรู้ด้านโภชนาการและสาธิตการแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน ๔๐ แห่ง เยาวชนเป้าหมายจำนวน ๑,๒๐๐ ราย
กิจกรรมประมงโรงเรียนถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารโปรตีนที่ได้จากปลา ซึ่งนอกจากผลผลิตที่ได้จะนำไปสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน ยังเป็นการปูพื้นฐานอาชีพทางการเกษตรให้นักเรียน โดยโรงเรียนจะเป็นแหล่งสาธิตและเผยแพร่เทคโนโลยีไปสู่นักเรียนและชุมชนที่มุ่งเน้นการปฏิบัติงานให้เกิดทักษะความรู้และความชำนาญ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต ลดปัญหาการขาดแคลนอาหาร อีกทั้งเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนมีร่างกาย สติปัญญาที่แข็งแรงสมบูรณ์ และเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เยาวชนของชาติต่อไป
๒. โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนในโรงเรียนพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี : จัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๒๕ เป็นโครงการที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน บูรณาการงานร่วมกันในการดำเนิน “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามพระราชดำริ” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนให้ดีขึ้น โดยได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์ปลาน้ำจืด พันธุ์ปลาทะเล พันธุ์สาหร่ายทะเล ก้อนเชื้อเห็ด เมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์ไก่ไข่ และวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ยหมัก สำหรับในปี ๒๕๖๖ ทางโครงการฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานครอบคลุม ๕ มิติ ดังนี้
มิติที่ ๑ การนำองค์ความรู้จากการศึกษา ทดลอง และวิจัยที่ประสบผลสำเร็จ ขยายผลไปสู่โรงเรียนในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ทางโครงการฯ ตั้งเป้าหมายเผยแพร่องค์ความรู้ที่สำคัญ อาทิ การเลี้ยงปลาดุกและปลานิลจิตรลดา การเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล การปรับปรุงบำรุงดิน การปลูกผักและไม้ผลปลอดสารพิษ การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การเลี้ยงไก่ไข่ ฯลฯ ให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
และโรงเรียนในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ จำนวน ๓๐ โรงเรียน
มิติที่ ๒ ครูและนักเรียนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบทั้งในด้านเทคนิค และการใช้เทคโนโลยีที่สามารถนำไปปรับใช้หรือแก้ไขปัญหาในโรงเรียนได้ ซึ่งทางโครงการฯ ได้กำหนดฝึกอบรมให้ความรู้เรื่อง“การพัฒนาจากยอดเขาสู่ท้องทะเล” โดยกำหนดเป้าหมายถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเริ่มต้นทำภาคการเกษตรให้ครูและนักเรียนจำนวน ๑๐ โรงเรียน รวม ๑๐๐ คน
มิติที่ ๓ ครูและนักเรียนมีแหล่งอาหารปลอดภัยสามารถแบ่งปันผลผลิตสู่ชุมชนใกล้เคียง นอกจากการสนับสนุนองค์ความรู้ที่เป็นรากฐานที่สำคัญแล้ว ทางโครงการฯ ได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ พันธุ์ปลา เมล็ดพันธุ์พืช
พันธุ์เป็ดเทศ กิ่งพันธุ์ไม้ผล เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้เด็กและเยาวชน มีผลผลิตสด สะอาด และคุณภาพดี มาใช้ประกอบอาหารกลางวันรับประทาน และยังสามารถแบ่งปันผลผลิตให้แก่ชุมชนใกล้เคียง จากการติดตามผลการดำเนินงานปี ๒๕๖๕ ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน จำนวน ๓๐ โรงเรียน
มีเด็กและเยาวชนได้รับประโยชน์ ๒,๐๐๐ คน มีวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร ดังนี้ เห็ด ๓,๕๐๐ กิโลกรัม มูลค่า ๒๘๐,๐๐๐ บาท ไข่ไก่ ๑๒๒,๕๐๐ ฟอง มูลค่า ๓๐๖,๒๕๐ บาท ปลาดุก ๑,๓๐๐ กิโลกรัม มูลค่า ๗๘,๐๐๐ บาท ผักชนิดต่าง ๆ ๖๐๐ กิโลกรัม มูลค่า ๑๘,๐๐๐ บาท
มิติที่ ๔ นักเรียนมีความรู้และเกิดทักษะในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ทางศูนย์ฯได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมทักษะด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ การแปรรูป และการตลาดให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัวที่มีปัญหา จะได้เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต นอกจากนี้ ทางโรงเรียนได้นำผลผลิตที่ได้นำมาปรุงอาหาร และแบ่งปันให้แก่เด็กที่มีฐานะยากจน นำกลับไปรับประทานกับครอบครัว
“อิ่มนี้เพื่อน้อง อิ่มท้องกลับบ้าน”
มิติที่ ๕ น้อมนำหลักการทรงงานเป็นแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาปรับใช้ในการดำเนินโครงการฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ คือ การน้อมนำหลักการทรงงานมาปรับใช้ในการ “บูรณาการร่วมกัน” เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานที่ต้องเข้ามาร่วมงานกัน ดังนั้น การวางแผนการดำเนินงานจะยึดหลักการสำคัญที่ว่า “ประโยชน์จะต้องเกิดกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด”
๓. โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพมหานคร : เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาจากการต่อยอดโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามมาจัดทำ "โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพมหานคร" ขึ้นให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กรมประมง สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และโรงเรียนในสังกัด กรุงเทพมหานคร เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม เป็นการฝึกทักษะอาชีพให้สามารถก่อให้เกิดรายได้จากการเลี้ยงและจำหน่ายสัตว์น้ำสวยงาม ผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม และสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม อาทิ ตู้กระจกพร้อมชั้นวางเครื่องสูบน้ำแบบจุ่ม ถังออกชิเจน เครื่องให้อากาศ พันธุ์ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลาสอด อาหารปลาและวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ
ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้มีการนำร่องการดำเนินงานโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีความพร้อมเรียบร้อยแล้วจำนวน ๖ โรงเรียน ได้แก่ ๑. โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ เขตบางนา ๒. โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ เขตมีนบุรี ๓. โรงเรียนสุเหร่าลำแขก เขตหนองจอก ๔. โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา ๑ เขตหลักสี่ ๕. โรงเรียน
วัดสิตาราม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ ๖. โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง
โดยกรมประมงมอบหมายสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและอุปสรรคกับโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมกับศักยภาพของโรงเรียนแต่ละแห่ง ในการพัฒนาให้สถานศึกษาเป็นจุดเรียนรู้หรือศูนย์ถ่ายทอดความรู้การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่ใกล้ชิดกับเยาวชน นอกจากนี้ ยังเชิญเกษตรกรศูนย์เครือข่ายด้านการประมงในพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำและให้องค์ความรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจริง เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้หันมาสนใจเรียนรู้ และนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดสร้างเป็นอาชีพได้ในอนาคต
จากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพยายามแก้ไขปัญหานักเรียนขาดสารอาหารในวันนั้น จนถึงวันนี้งานพัฒนาของพระองค์ได้กลายเป็นรูปแบบของการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม นั่นคือเด็กและเยาวชนได้มีแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอยู่ใกล้ตัว สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อต่อยอดสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไปอย่างยั่งยืน