วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตพญาไท พรรคก้าวไกล กล่าวถึงวาระพิจารณางบประมาณประจำปี 2567 จำนวน 90,000 ล้านบาท ของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า สิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหาเสียงไว้ 216 นโยบายเพื่อดูแลประชาชน เมื่อดูจากงบประมาณแล้ว ไม่ถึง 50% ที่จะใช้งบประมาณทำให้นโยบายประสบผลสำเร็จตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ซึ่งตนอยากให้ผู้ว่าฯให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก เช่น นโยบายเพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูกราคาเดียว หรือ การเพิ่มรถ feeder รับส่งประชาชนจากสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงที่จอดรถจักรยาน ซึ่งมีการหาเสียงไว้

 

นายพีรพล กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางออกจากบ้านมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างราคาอย่างต่ำ 20 บาทไป-กลับ 40 บาท จากการสำรวจ รวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดของประชาชนราว 40% ของเงินเดือน ดังนั้นสิ่งที่อยากเสนอ คือ ควรลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนให้ได้ตามที่หาเสียง

 

“ท่านหาเสียงไว้ดีมาก แต่ควรกำหนดไว้ในงบประมาณของสำนักการจราจรและขนส่งว่า จะมีเลนจักรยาน จะมีรถเมล์วิ่งระหว่างสถานี รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ควรทำตั้งแต่ตอนนี้ จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนลงได้ บางเรื่องที่ไม่ได้กำหนดในงบประมาณเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการทั้งนั้น หากคิดแต่โครงการใหญ่ โครงการเล็กแต่มีประโยชน์ต่อประชาชนจะไม่ได้ทำ”

 

ส่วนงบประมาณที่พิจารณาครั้งที่แล้ว เป็นงบประมาณของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนเก่า ตนตั้งคำถามว่าทำไมต้องรีบนำเข้าพิจารณาในขณะนั้น (มิ.ย.65) ควรนำกลับไปพิจารณาโครงการที่หาเสียงไว้ให้ชัดเจน เพื่อเปลี่ยนแปลงงบประมาณก่อนนำเข้าพิจารณา ซึ่งใช้เวลาไม่มาก เช่น ครั้งนี้นำเข้าพิจารณาเดือนกรกฎาคม แต่ครั้งที่แล้วนำเข้าเดือนมิถุนายน ซึ่งเวลาต่างกันไม่นาน เมื่อรีบนำเข้าพิจารณาเมื่อครั้งที่แล้วเท่ากับว่าเป็นโครงการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนเก่าทำไว้ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันไม่ได้ประโยชน์อะไรจากงบประมาณปีที่แล้ว จึงเกิดความล่าช้าในการดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ เพราะไม่ได้เป็นโครงการของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯกทม.แม้แต่น้อย

 

นายพีรพล กล่าวว่า ผลงานที่เห็นในปัจจุบันนี้ เป็นผลงานที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดผลงานอันเป็นประจักษ์ได้ต้องใช้งบประมาณมาช่วย หากละเลยเรื่องการนำงบประมาณมาช่วยดำเนินนโยบาย จะทำให้ไม่มีผลงานอันเป็นประจักษ์

 

สำหรับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีงบประมาณของกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 90,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.งบสำนักต่าง ๆ คิดเป็น 61% ทั้งหมดจำนวน 54,713,217,100 บาท โดยอันดับหนึ่งคือสำนักการโยธา ได้รับงบประมาณสูงสุด 11,563 ล้านบาท 2.งบกลาง คิดเป็น 16% ทั้งหมดจำนวน 14,718,825,400 บาท 3.งบสำนักงานเขตทั้งหมด คิดเป็น 23% ทั้งหมดจำนวน 20,567,957,500 บาท โดยอันดับหนึ่งคือกลุ่มเขตกรุงเทพฯตะวันออกได้รับงบประมาณสูงสุด 4,744 ล้านบาท

​​​​​​​ ​​​​​​​ ​​​​​​​