วันที่ 26 ก.ค.2566 เวลา 10.10 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการเลื่อนประชุมโหวตนายกฯ วันที่ 27 ก.ค. หลายคนมองว่าเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ว่า ที่งดประชุมวันที่ 27 ก.ค. เนื่องจากผู้ตรวจการฯ มีมติว่าการเลือกนายกฯวันที่ 19 ก.ค. ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญจึงส่งส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เมื่อมีผู้สงสัยก็ส่งให้องค์กรสูงสุดวินิจฉัย เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ยั่งยืนได้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็จะผูกพันทุกองค์กรที่จะต้องปฏิบัติตาม หากศาลรธน.จะรับหรือไม่รับก็เป็นเรื่องที่ดีของทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นที่สภาก็จำเป็นต้องรอศาลวินิจฉัย เพราะการวินิจฉัยของศาลรธน.จะมีผลกระทบต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี หากศาลรธน.ชี้ว่าวิธีการเลือกไม่ถูกต้อง เราก็ต้องย้อนกลับไปไม่ใช่เกิดความเสียหายเฉพาะเวลา แต่จะเกิดความเสียหายกับคนที่เราเลือกไปด้วย รวมทั้งกระบวนการในการดำเนินการต่อไปด้วย ดังนั้นต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรธน. ซึ่งมีอยู่หลายแนวทาง ถ้าไม่รับ สภาก็ดำเนินการต่อ ถ้ารับบอกให้เรารอก็ต้องรอ ถ้ารอแล้วผลวินิจฉัยออกมาเป็น 2 แนวทาง คือ เราก็ต้องปฏิบัติตามเดิม หรือตามรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับที่ 9 เราก็ต้องปฏิบัติตามว่าจะเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่
"ยืนยันไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นการปฏิบัติของรัฐสภา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจะได้ไม่เสียเวลาโดยใช่เหตุ และถ้ายังยืนยันที่จะประชุมในวันที่ 27 ก.ค. อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับองค์ประชุมเพราะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แจ้งว่า ในวันที่ 28 ก.ค. จะมีพระราชพิธีที่สำคัญส.ส. ส.ว. ในทุกจังหวัดก็จะไปร่วมพิธีตั้งแต่เช้า หากมีการประชุมในวันที่ 27 ก.ค. ก็จะกลับไปไม่ทัน เพราะบางคนอาจจะไม่เดินทางมา เพราะจะไปร่วมในงานพิธีดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมกังวล และหากเลื่อนออกไปก็จะทำให้การประชุมมีความเรียบร้อยกับทุกฝ่าย"ประธานรัฐถา กล่าว
เมื่อถามว่าถ้ารอศาลรธน. วินิจฉัยการเลือกนายกฯจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ จะเกิดขึ้นได้กลางเดือนสิงหาคมหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ก็อยู่ที่การวินิจฉัยของศาลรธน. ว่าจะรับหรือไม่รับ ถ้าไม่รับก็เดินหน้าต่อไป และถ้ารับก็ต้องดูว่าศาลรธน.ให้ชะลอหรือไม่ แต่ถ้าศาลรธน. สั่งให้ชะลอจำเป็นต้องรอหรือไม่นั้น ขอดูสถานการณ์ก่อน เพราะถ้ารอนานเกินไปจะเกิดความเสียหาย
"ผมคิดว่า ศาลรธน. คงจะทราบดีว่า เป็นเหตุการณ์เร่งด่วน เพราะประเทศจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าศาลรธน. คงยกระดับพิจารณาเร็วและเสร็จเร็ว แต่เราไม่สามารถไปคาดคั้นได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ คิดว่าถ้าเรารอก็คงไม่นาน เป็นเรื่องที่ศาลรธน.ทราบดี"นายวันนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่าการเลือกนายกฯจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดเมื่อไหร่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะเกิดขึ้นทันที เร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพราะมันไม่มีอะไร ทันทีที่สามารถจะออกหนังสือเชิญประชุมได้ทัน แต่ช่วงนี้หยุดยาว ไม่อยากให้รอเสียเวลาแม้แต่น้อย เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องทำ ถ้าวินิจฉัยว่าศาลรธน. ไม่รับก็เร็วแน่นอน
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลเตรียมจะเสนอญัตติให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาการลงมติข้อบังคับที่ 41 นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า สภาฯเคยวินิจฉัยหากไม่ตรงกันแล้วเกิดความขัดแย้งในการปฏิบัติ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. มี ผู้เห็นว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ส่งให้ศาลรธน. ซึ่งตนคิดว่าน่าจะได้ข้อยุติ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาวินิจฉัยใหม่ ส่วนจะเสนอให้วินิจฉัยข้อบังคับที่เท่าไหร่ก็เสนอได้ แต่ต้องดูว่าทำได้หรือไม่ และจะทำอย่างไร และจะมีปัญหาหรือไม่อย่างไร เพราะเรื่องนี้อยู่ที่ศาลรธน. แล้ว
"อยู่ที่ศาลรธน.จะวินิจฉัย เพราะคำสั่งของศาลรธน. จะผูกพันการทำหน้าที่ของสภาและองค์กรอื่น ๆ ต้องปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นถ้าเราวินิจฉัยไม่ตรงก็จะเกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติ"ประธานรัฐสภา กล่าว
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลมองว่าการวินิจฉัยดังกล่าวจะเป็นการแทรกแซงการทำงานของรัฐสภาหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็พิจารณาเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อะไรที่ทำแล้วขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเขาก็ไม่ทำ