ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“ในภาวะชีวิตของสัตว์โลก..เราต่างมีธรรมชาติของการมีชีวิตอยู่ที่แปลกต่างกัน  มันขึ้นอยู่รอยลักษณ์ของความเป็นชีวิตที่โลกของการดำรงอยู่ได้ลิขิตไว้..เราอาจเป็นสัตว์ป่าเถื่อนในกายร่างของความเป็นมนุษย์ หรืออาจเป็นมนุษย์ในสัญชาติของความป่าเถื่อน..แต่ในขณะเดียวกันเราอาจถูกสร้างมาให้ดำรงตนเป็นสัตว์เลี้ยงอันแสนเชื่องที่เคยคุ้น..หรือแปรตัวตนเป็นสัตว์ดุร้ายที่ปกป้องบางสิ่งบางอย่างที่มีอำนาจเหนือชีวิต...แรงซัดเหวี่ยงแห่งมวลชะตากรรมเช่นนี้..คือโครงเรื่องชั้นดี ของการสรรค์สร้างประสบการณ์แห่งชีวิตในเชิงเปรียบเทียบ..เพื่อส่องทางให้ก่อเกิด “สนามแห่งจิตวิญญาณ” ขึ้นในตัวตน..หากไม่ครอบคลุมหรือหยั่งรู้ในนิยามความหมายอันแท้จริง...ความคลาดเคลื่อน..ก็จะค่อยๆกลืนกินวิถีแห่งสัจจะอันมีพลังเสกสร้างตัวละครจริง..ในโลกอันถาวรไป..

เหตุนี้..อะไรคือคำตอบของปริศนาอันชวนวกวนนี้กันแน่..หากเราขาดความเข้าใจในวิถีจริตอันซับซ้อน..และไม่อาจหาข้อสรุปที่สมควรจะเป็นแก่มันได้.. อะไรคือ “รัฐบาลหมา” อะไรคือนัยแห่งชื่อเรื่องของนวนิยายเล่มนี้..หรือมันเป็นแค่การยั่วล้อ..ที่ขันขื่น..หรือ เป็นเพียงอารมณ์อันฟุ้งฟายเหยียดเย้ยของผู้ประพันธ์..กันแน่?

“รัฐบาลหมา” (The Starlight  Barking )..งานเขียนของ “โดดี้ สมิธ” (D0die Smith) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1967..56 ปีล่วงมแล้ว..แต่ก็ยังเป็นภาพแสดงของสังคมบางสังคมที่น่าหน่ายแหนง สะท้อนใจ..และชวนหดหู่ ณ ปัจจุบันได้อย่างเจ็บแสบ และ ชวน เย้ยหยันยิ่ง..เป็นงานล้ำสมัยที่ชวนติดตามอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยภาพสะท้อนความคิดในหลากหลายแง่มุม..โดยเฉพาะเมื่อหมาได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง บริหารแผ่นดิน ทั้งในฐานะ รัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรีอันเป็นตำแหน่งสูง...นี่คือภาวะที่ “โดดี้” ได้กำหนดสร้างขึ้นอย่างแยบยล บนพื้นฐานของการพลิกผัน..สถานะและบทบาท..ของ “สัตว์ร่วมโลก”..ที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันดั่งเช่น “ผนังพังผืด” ของสังคมร่วมสมัยอันกลับหัวกลับหางอย่างสุดขั้ว..

ในบริบทของประพันธกรรมแบบแฟนตาซี ที่ยึดถือความสุดขั้วของจินตทัศน์ มากกว่าเหตุแห่งผลของความเป็นจริง แผ่นดินที่ปกครองโดยหมาจะมีความสุขสมบูรณ์ในลักษณะไหน..หรือจะโกลาหลอลหม่าน ด้วยสัญชาตญาณดิบใดๆ..ไม่มีใครจะรู้และคาดเดาได้อย่างหมดเปลือก นอกจากจะเปรียบเทียบเอากับสำนึกของมนุษย์ ที่ตัวเองสวมชีพและดำรงตนดำรงใจ ในสถานะและบทบาท ที่ตรึงติดชีวิตและครอบงำด้านลึกของนัยความคิดหรือความรู้สึกเอาไว้อยู่..(.)

ครั้นเมื่อเวทมนตร์เกิดขึ้น..ส่งผลให้.สัตว์และมนุษย์.. ทั่วอังกฤษหลับใหลกันยกเว้นหมา..เวทมนตร์นี้ได้ไหลไปทั่วยุโรปและทั่วโลก..

ซึ่งเมื่อทุกสิ่งหลับใหลไปหมด จึงเหลือเพียงหมาเท่านั้นที่จะกอบกู้โลก...หมาเป็นสิ่งมีชีวิตคู่โลกที่ไม่ยอมหลับนอน..พวกเขาทำได้สารพัด..ทั้งบิน..ทั้งสื่อสารทางโทรจิต   

หรือทำอะไรก็ได้ในชีวิตประจำวัน..เพียงแค่นึกเอาเท่านั้น....นี่คือบทบาทแสดงใน รูปรอยแห่งแฟนตาซีที่ใช้เป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง..ให้น่าติดตามและเร้าอารมณ์โดยตลอด..อะไรคือเจตจำนงที่แท้ของประพันธกรรมเรื่องนี้กันแน่.?

สำหรับ"โดดี้"..เธอเสมือนว่าได้ทำให้ศักยภาพในการแสดงออกของหมาในเรื่องนี้ทั้งหมด เป็นเหมือน..แบบจำลองของจิตสำนึกที่มนุษย์ควรกระทำต่อชีวิตอย่างมุ่งมั่นและเข้าใจต่อการเป็นตัวเองในโลกของวันนี้ที่ควรจะเป็น..โดยเฉพาะมิติแห่งการใช้อำนาจที่มนุษย์เรา..มักจะหลงจริตอยู่เสมอ..

“โดดี้ สมิธ"..ในฐานะนักเขียนสตรี..ผู้โด่งดังจากเรื่อง “ขบวนการหมาจุด”..ได้นำเสนอแนวคิดแห่งความเสมอภาคของสตรีเพศ..เพื่อเน้นย้ำต่อผู้อ่านให้ได้ประจักษ์ถึง...ความสำคัญของผู้หญิงในด้านต่างไป..นี่คือตอนต่อของกระบวนการหมาจุด (The Hundred and One Dalmatian s)..ที่ได้แสดงความคิดต่อยุคสมัยด้วยภาพแสดงทั้งเหตุการณ์และความคิดที่ก้าวหน้าอย่างยิ่ง..

ความแจ่มชัดในเชิงทัศนคติทางการปกครองและการบริหาร ปรากฏขึ้น ณ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง อันเป็น..ทำเนียบที่พำนักของนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ..ไม่มีใครคาดคิดว่า..ณ บ้านหลังนี้..นายกรัฐมนตรีจะเป็นสตรี..แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ของประเทศเมื่อวันหนึ่ง.. “เธอผู้นั้น” แท้จริง..ทำงานได้อย่างดี มันทัดเทียม หรือถึงขนาดเหนือกว่าผู้ชาย..

ด้วยเหตุนี้..ตัวละครของโดดี้ ในเรื่องนี้..จึงคือภาพสะท้อนที่ทำให้มนุษยชาติได้มองเห็นและตระหนักถึงบางสิ่ง..อย่างสาแก่ใจ..ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อใด หรือ ที่ไหนในโลกนี้ก็ตาม..

แน่นอนว่า..รัฐบาลบางรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี หลายต่อหลายคนในบางประเทศ..มิอาจสู้หรือมีทั้งคุณภาพ และ ศักยภาพ ที่ทัดเทียมได้เท่า.. “บรรดาคณะรัฐมนตรีหมา.แห่งรัฐบาลหมาที่ปรากฎในนวนิยาย..เรื่องนี้.."

เจตจำนงของหนังสือเล่มนี้..บริสุทธิ์ในเชิงการประพันธ์แบบยั่วล้อ ที่ขื่นขำ..เจ็บปวดในเสียงหัวเราะอันหยามหยัน..

“เริ่มด้วย จู่ๆสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆก็พากันหลับแบบไม่ยอมตื่นกันไปหมด..คงมีแต่หมาเท่านั้นที่ตื่นขึ้นมา..พวกเขาจึงต้องหาทางช่วยตัวเองด้วยวิธีต่างๆนานา..

จนกระทั่งได้ตั้งรัฐบาลหมาขึ้นมาโดย “เจ้าหมูเล็ก”..ลูกของปองโกและมิสซิส..ในเรื่องขบวนการหมาจุด..โดยมีหมาของนายกรัฐมนตรีที่เป็นคน..ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และ หมาของบรรดารัฐมนตรีกระทรวงต่างไป ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี แทน

เจ้าของกันอย่างถ้วนหน้า.. พวกเขาล้วนทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี..ถึงขนาดดีกว่าเจ้าของเสียอีก..

แต่ต่อมา..ความลับและความลึกลับนี้ก็ถูกเปิดเผยขึ้น.. “ซิริอุส” เทพเจ้าแห่งหมา..คือต้นเค้าของเรื่อง เขาต้องการนำหมาไปสู่ห้วงแห่งความผาสุกอันเป็นนิรันดร์ ให้พวกเหล่าหมาทั้งหลาย..ได้ปลดเปลื้อง สภาพความเป็นสัตว์เลี้ยงของเหล่ามนุษย์

..สาระเนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้ จึงเป็นดั่งคำสอนต่อการประพฤติปฏิบัติอันสมควรของมนุษย์..อย่างที่จักต้องสมควรเป็น..

โดยองค์รวมของคำสอน.. “โดดี้” มองโลกในแง่งามและดี...เราต้องมองโลกอย่างมีความหวัง ..นั่นคือส่วนอันเป็นพลังที่เธอยืมปาก และ สัญชาตญาณของหมา..วิพากษ์แนวคิดของ “คนในฐานะมนุษย์” อย่างกระแทกกระทั้น ทั้งจิตใจและอารมณ์..

“เมื่อมีนายกรัฐมนตรีเป็นหมา หรือมีหมาเป็นนายกรัฐมนตรี”..เราจะคิดถึงอะไรก่อนสิ่งอื่น..เราจะทำอะไรให้บรรดาหมาได้รับความสุขกันโดยถ้วนหน้า..ผูกพันในทุกเผ่าพันธุ์ ทุกเพศ ทุกวัย...มิใช่เพียงเผ่าพันธุ์เดียวกับตัวเอง หรือ อยู่ในครอบครัวของตัวเองเท่านั้น..

และครั้นเมื่ออำนาจบีบบังคับให้สังคมต้องทำตาม.. คำถามที่เกิดขึ้นก็คือว่า..นายกรัฐมนตรีหมา รัฐมนตรีหมา จะทำอย่างไร?..

ในบทสรุปของประพันธกรรมนี้..สร้างคำถามอันเป็นปริศนาชวนใคร่ครวญว่า..ผู้ปกครองหมาจะตัดสินใจทำเช่นไร?..

การลงประชามติหมา จะเกิดขึ้นหรือทำได้หรือไม่?..และจะด้วยขบวนวิธีใด?..และที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของที่สุด ก็คือ นายกรัฐมนตรีหมา คณะรัฐมนตรีหมา จะฟังเสียงประชาชนหรือไม่???

หนังสือตีพิมพ์มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และได้รับการแปลและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย โดยนักแปลชั้นครู “ผกาวดี อุตโมทย์” ในนามปากกา “สาลินี คำฉันท์” เมื่อปีพ.ศ.2539 (ค.ศ.1996)..แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน..แต่หนังสือนี้ ก็ยังควรค่าต่อการรับรู้เเละเรียนรู้ในแก่นสารและนัยหัวใจแห่งวรรณกรรมส่องจิตวิญญาณของสังคม..รวมทั้ง ยังสรรค์สร้าง ความตื่นเต้นระทึกใจ ความสนุกสนาน ความมีชีวิตชีวา อันชวนคิด ชวนขัน ที่ไม่ตกยุค ตกสมัยเลย..แม้เมื่อใด!!!..

“อำนาจที่มาจากการรับฟังที่ดี..และการตัดสินใจในทางที่ดี..ย่อมเป็นอำนาจที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด..เพราะผ่านการนึกคิด...จากสิ่งที่เรียกว่า สติและศีลธรรม...”