ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่พระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ความว่า

 “...ทรัพยากรด้านประมงจะต้องจัดเป็นระเบียบ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าปล่อยพันธุ์ปลาให้ดีหรือเลี้ยงปลาให้เติบโต ความสำคัญอยู่ที่ด้านบริหารการจับปลาเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จริง ๆ...”

         กรมประมง เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงมีต่องานด้านการประมง โดยดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้กลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญที่ราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายในทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดรายได้ ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติอย่างยั่งยืน

         นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ทะเลสาบสงขลา” เป็นทะเลสาบธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทย มีขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึง ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ในอดีตทรัพยากรสัตว์น้ำเริ่มเสื่อมโทรมลงจากปัญหาการทำประมงที่เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ และขาดการบริหารจัดการ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากร

 

         กรมประมงเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการได้ดำเนินงาน “โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลา” ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นที่ทะเลสาบสงขลาในรูปแบบฟาร์มทะเล/ฟาร์มสัตว์น้ำ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกันนี้ ยังมีการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อคงความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา ด้วยการผลิตและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินโครงการฯ ในปี ๒๕๖๕ พบว่าผลผลิตสัตว์น้ำรวมที่จับได้จากท่าขึ้นสัตว์น้ำรอบทะเลสาบสงขลา มีจำนวน ๒,๒๖๘,๑๗๐กิโลกรัม (ข้อมูลเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ - กันยายน ๒๕๖๕) มีการปล่อยสัตว์น้ำชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จำนวน ๑.๑๙๒ ล้านตัว และมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา ทั้งหมด ๒๗.๑๕๕ ล้านตัว นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาแนวทางในการจัดหาแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เหมาะสม รวมถึงควบคุมและบริหารจัดการเครื่องมือประมงด้วยการออกปฏิบัติการเฝ้าระวังพื้นที่เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายอีกด้วย

สำหรับแผนปฏิบัติงานในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ได้มีการกำหนดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง
และปรับปรุงแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่  ผ่าน ๖ กิจกรรมสำคัญ ดังนี้

กิจกรรมที่ ๑  บูรณาการฟาร์มทะเลโดยชุมชนเพื่อการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา เริ่มจากสำรวจ
และคัดเลือกพื้นที่เพื่อสร้างเขตฟาร์มทะเล โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าบ้านด้วยการกำหนดกฎกติกาในการทำประมงร่วมกัน และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา

กิจกรรมที่ ๒ การเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยการวิจัยวิถีชีวิตและวงจรชีวิตสัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมถึงการเพาะขยายพันธุ์เพื่อปล่อยลงสู่ทะเลสาบสงขลา 

กิจกรรมที่ ๓  การพัฒนาฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศทางด้านการเพาะเลี้ยง การประมง และแหล่งประมง  โดยทำการสำรวจปริมาณสัตว์น้ำจากท่าขึ้นสัตว์น้ำรอบทะเลสาบสงขลาในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง
และนครศรีธรรมราช รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจผลผลิตสัตว์น้ำ บันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อนำมาจัดทำแผนที่ผลผลิตสัตว์น้ำรอบทะเลสาบสงขลาทั้งหมด 

กิจกรรมที่ ๔  ประชาสัมพันธ์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ด้วยการแจ้งข้อมูลข่าวสาร จัดทำบทความวิชาการ เพื่อประชาสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง และชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงบริเวณทะเลสาบสงขลา
อย่างยั่งยืน 

กิจกรรมที่ ๕  การบริหารจัดการเครื่องมือประมงในทะเลสาบสงขลา ควบคุมการทำการประมง
ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวังพื้นที่เพื่อป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

กิจกรรมที่ ๖  ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ด้วยการจัดประชุม หรือตรวจเยี่ยมในพื้นที่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ และสรุปผลการปฏิบัติงานภาพรวมเพื่อรายงานกรมประมงต่อไป

         อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า จากการดำเนินโครงการฯ หลายปีที่ผ่านมา กรมประมงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมภายใต้โครงการฯ จะสอดรับเพื่อประโยชน์ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรประมงอย่างมีนัยสำคัญ สามารถเพิ่มผลผลิตและคงความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา สร้างรายได้ให้กับชาวประมง เป็นแหล่งอาหารของชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา ตลอดจนชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่ของตนเองได้อย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด