เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 25 ก.ค. 66 ที่อาคารไทยซัมมิท นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่าในการประชุมสส.พรรคก้าวไกลวันนี้ จริงๆ แล้วต้องนำไปสู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภา แต่เมื่อได้มีการประกาศงดการประชุมสภาแล้วนั้น ทำให้ไม่สามารถพิจารณาวาระใดๆ ได้เลย พรรคก้าวไกลจึงได้มีการถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ และมีมติที่เกี่ยวพันการการดำเนินของพรรคก้าวไกลในสภาต่อไป ประการแรก เดิมทีในวาระประชุม มีวาระหลักๆ อยู่ 2 วาระ คือวาระในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตซ์ สว. หากไปดูกรณีที่ทุกฝ่ายพูดตรงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน เป็นปัญหาที่ไม่สามารถรอคอยได้ พี่น้องประชาชนต้องการให้มีผู้นำในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่ามีการงดการประชุม ซึ่งทำให้การพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีล่าช้าออกไป และเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เป็นโอกาสที่เราจะได้พูดคุยและหาทางออก 

ประการที่สอง ถึงแม้จะมีการอ้างในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีการตีความข้อบังคับที่ประชุม ข้อที่ 41 เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น แต่ในวาระการประชุมรัฐสภาไม่ได้มีวาระเพียงแค่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเหตุใด ทำไมถึงไม่เอาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่พรรคก้าวไกลต้องการจะยกเลิก หยิบขึ้นมาพิจารณา เราไม่จำเป็นต้องปล่อยเวลาเอาไว้เฉยๆ สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ แล้วก็หาทางออกให้กับสว. ที่ต้องการปิดสวิตซ์ตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะได้เดินหน้าออกจากความขัดแย้งที่เรื้อรัง เป็นชนักติดหลังทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้ 

ประการที่สาม การที่เรารอคอยว่าสุดท้ายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรต่อไป ทำให้การพิจารณาเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี อยู่บนความไม่แน่นอน เพราะสุดท้ายเราไม่มีทางรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งส่งผลให้การเลือกนายกรัฐมนตรีช้าออกไป โดยที่สภาไม่สามารถหาทางออกให้กับสังคมได้ พรรคก้าวไกลเราเชื่อมั่นในการทำงานของสภา และในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ควรจะเป็นครั้งที่ 2 ในการเลือกนายกพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายรัฐสภามีมติตามขัอบังคับที่ 41 ประกอบข้อ 151 ว่าการจะเสนอชื่อนายพิธาซ้ำไม่สามารถทำได้ 

“วันนี้ทุกฝ่ายกระจ่างอย่างชัดเจนว่าการตีความเหล่านั้นไม่ถูกต้อง ดังที่ปรากฏหน้าสื่อ แต่ก็มีสังคมบางส่วนที่บอกกับพรรคก้าวไกล ว่าเราควรจะร้องศาลรัฐธรรมนูญ เรียนตามตรง เราไม่อยากเห็นการเข้ามาแทรกแซงอำนาจของรัฐสภาด้วยศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว พรรคก้าวไกลมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราสามารถจัดการกันเองได้ในสภา” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า วันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นว่า การตีความข้อบังคับดังกล่าวเป็นการตีความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออกให้สังคมเพื่อฝ่าด่านนี้ หากเราพิจารณาข้อบังคับการประชุมในข้อต่างๆ เราสามารถยื่นญัตติขอให้สภาทบทวนญัตติที่เคยมีไปแล้ว ซึ่งสภาสามารถทำได้ เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่สภา ที่เราจะต้องมีมติและข้อวินิจฉัยที่แตกต่างกันออกไป 

ดังนั้น ในการประชุมครั้งต่อไป เราจะหารือกับประธานรัฐสภา และยื่นญัตติต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาทบทวน ซึ่งหากสภาเห็นด้วยกับข้อเสนอจะทำให้การเสนอนายกรัฐมนตรีไม่ต้องผูกพันกับข้อมติเดิมอีกต่อไป ทำให้สามารถเสนอบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำได้

เมื่อถามถึงกรณีที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มากกว่า หากเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ว่า พรรคก้าวไกลพูดอย่างชัดเจนว่าตอนนี้เราให้พรรคเพื่อไทยเสนอบุคคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเข้าใจว่าคือนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ฉะนั้น ตนคิดว่าการเสนอของเราเป็นคนละเรื่องกัน เพราะเป็นการเสนอเพื่อปลดล็อกแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และไม่ควรปล่อยให้เป็นมาตรฐานแบบนี้ต่อไป เราสามารถที่จะหาทางออกได้ ดำเนินการเองได้ สภาไม่จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัย

เมื่อถามต่อว่า จะเป็นการตอกย้ำไหมว่า การที่ยกเก้าอี้ประธานสภา ให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นความผิดพลาดของพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาในบริบทต่างๆ และข้อความเห็นในส่วนของผู้ที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ไม่ตรงกัน สุดท้ายจึงนำไปสู่การถอยกันคนละก้าว ให้นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นประธานสภา และตนทราบว่านายวันมูหะมัดนอร์มีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งตนคงไม่สามารถไปวิจารณ์ว่าการทำหน้าที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร คงต้องช่วยกันพิจารณา แต่เรายืนยันว่าการที่เราเสนอโดยอาศัยข้อบังคับการประชุมสภา เพื่อให้ทบทวนมติกันอีกครั้ง จะเป็นทางออกให้กับทุกฝ่ายที่จะทำให้เรา กลับคืนสู่หลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีข้อมติที่ขัดกับแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างที่ผ่านมา 

เมื่อถามว่า หากมีการทบทวนมติแล้วสภาไม่เห็นชอบ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส้งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะถูกตีตกไปด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาในข้อกฎหมาย แต่เบื้องต้นตนคิดว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่เราสามารถทำได้ และควรเร่งทำ เมื่อถามต่อว่า หากสามารถปลดล็อกในกรณีข้างต้นได้ พรรคก้าวไกลจะได้โอกาสกลับมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คงต้องดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน ได้ไม่ได้ สำเร็จไม่สำเร็จ คงต้องมาคุยกันใน 8 พรรค วันนี้ในหลักการที่เราอยากเห็น คือการเดินหน้าทำตามมติของประชาชน ทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งเมื่อประชาชนเลือกตั้งกันแล้ว อย่าให้ประชาชนต้องพูดว่า เลือกตั้งกันไปทำไม ไม่มีอะไรเปลี่ยน ไม่เห็นมีความหมาย สุดท้าย 8 พรรคต้องคุยกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แน่นหนา ตนเชื่อว่าตราบใดที่ 8 พรรคแน่นหนา สว. ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะถึงที่สุด มาตรา 272 เป็นแค่มาตรการชั่วคราว 

“ต้องไม่ได้บอกว่าต้องรอถึง 10 เดือน ถ้า 8 พรรคร่วมเข้มแข็งเพียงพอ ตนเชื่อว่าฝ่ายที่พยายามทำให้เราแตกแยก ใช้กลไกจับข้ามขั้วจะไม่เกิดขึ้น และรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะไม่สามารถเป็นไปได้ ดังนั้น ไม่ใช่ 10 เดือนจริงๆ สุดท้ายฝ่ายที่พยายามวางกลอุบายเช่นนี้เขาก็ต้องยอมต่อเสียงของประชาชนที่เลือกเราเข้ามา” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาระบุว่าพรรคก้าวไกลควรถอยออกมาก่อน เพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้นายกรัฐมนตรีก่อน แล้วอาจจะดึงพรรคก้าวไกลกลับไปร่วมรัฐบาล นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งตนไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตอบแทนทุกพรรคได้ ซึ่งคงต้องมีการพูดคุยกันใน 8 พรรคร่วม ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ขณะนี้เราให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล สำเร็จหรือไม่ ได้ความว่าอย่างไร ค่อยมาว่ากันอีกทีหนึ่ง