สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
แนวทางการศึกษา พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ทรงเจดีย์ อาจใช้วิธีการเปรียบเทียบกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ โดยมีหลักการพิจารณาดังนี้
- เส้นขอบแม่พิมพ์ด้านซ้ายขององค์พระ ของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะลากยาวลงมาจดกับขอบซุ้มเรือนแก้วตรงมุมล่างพอดี ต่างจากพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ ซึ่งจะมาจรดกับขอบซุ้มเรือนแก้วตรงกลางของแขนองค์พระ
-พระเกศของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะมีรอยขยักเหมือนมีพวงมาลัยครอบไว้กลางพระเกศ ซึ่งต่างจากพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่
-บริเวณหัวไหล่ทั้งซ้ายและขวาขององค์พระ ระหว่างหัวไหล่ถึงใต้รักแร้ทั้งสองข้างของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะเท่าๆ กัน ต่างกับพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ เนื้อที่ระหว่างหัวไหล่กับรักแร้ด้านขวาขององค์พระจะกว้างกว่าด้านซ้ายขององค์พระ
-เส้นซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะเล็กกว่าเส้นซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่
- หัวฐานชั้นที่ 2 ด้านขวามือขององค์พระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะมีลักษณะเรียวแหลม ซึ่งคนโบราณเรียกว่า "หัวเรือเอี้ยม จุ๊น"
- พระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ ในองค์ที่ติดชัดจะมีเส้นผ้าอังสะพาดจากหัวไหล่ลงมาใต้รักแร้อย่างเห็นได้ชัด ส่วนพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ จะไม่ปรากฏเส้นผ้าอังสะ
- แขนข้างขวาด้านในขององค์พระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะมีเนื้อพอกอยู่เป็นส่วนเกิน ซึ่งเป็นตำหนิของแม่พิมพ์ที่เป็นส่วนลึกสุด ถึงแม้องค์ใดจะผ่านการใช้จนสึกหรือกดพิมพ์ไม่ลึกเพียงพอ แต่เนื้อพอกส่วนเกินของซอกแขนนี้ก็คงจะยังปรากฏให้เห็นชัด เจนอยู่
- ข้อศอกซ้ายด้านนอกของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะไม่มีเส้นชายจีวรแล่นจากข้อศอกมายังเข่าเหมือนพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่
- มุมหัวฐานด้านขวาขององค์พระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ชั้นล่างสุด จะมีเส้นรอยแตกของแม่พิมพ์วิ่งแล่นจดมุมซุ้ม
- สัดส่วนของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะเล็กกว่าพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่
ท้ายสุดคือพิมพ์ด้านหลัง พิมพ์ด้านหลังของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะไม่เหมือนพิมพ์ด้านหลังของพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ ตามภาษาวงการพระเรียกว่า "พิมพ์หลังทื่อ" หรือหลังเรียบ และขอบด้านหลังจะมี "รอยปูไต่" อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของพระ สมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างขึ้นครับผม