คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
แทบไม่น่าเชื่อแม้ว่าขณะนี้ “ดร.เฮนรี คิสซิงเจอร์” จะมีอายุ 100 ปีแล้วก็ตาม แต่ท่านยังคงแข็งแรงสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2023 ท่านได้ออกเดินทางไปพบปะเจรจากับ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” ณ กรุงปักกิ่ง
ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางเมืองระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังอยู่ในขั้นล่อแหลมตึงเครียดมีความขัดแย้งกัน เนื่องมาจากกรณีที่เกี่ยวข้องไต้หวันนั่นเอง!!!
ในการพบปะครั้งนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้จัดสถานที่ต้อนรับ ดร.เฮนรี คิสซิงเจอร์ แห่งเดียวกันกับที่ “ประธานเหมา เจ๋อตุง” เคยจัดต้อนรับท่านครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1971
โดยเมื่อห้าสิบปีก่อนหน้านี้ ดร. เฮนรี คิสซิงเจอร์ คือผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็นตำนานครั้งใหญ่และยังถือว่าท่านเป็นผู้เริ่มต้นจุดประกายความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯกับจีนหลังจากที่เคยหมางเมินต่อกันมาอย่างยาวนาน
โดยครั้งนั้นยังถือเป็นการเปิดช่องทางให้ “ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน” มีโอกาสเดินทางไปเยือนจีนเป็นครั้งแรกอีกด้วย
จากข้อมูลใหม่ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาล่าสุดถึงแผนของประธานาธิบดีนิกสันที่หวังจะสมานเชื่อมความสัมพันธ์กับจีนอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้ดร.คิสซิงเจอร์ คิดหาลู่ทางว่า จะมีวิธีไหนที่ถือว่าดีที่สุด ซึ่งในขณะนั้น ดร.คิสซิงเจอร์ ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ
ในที่สุดประธานาธิบดีนิกสันก็เห็นชอบต่อข้อเสนอที่ดร.คิสซิงเจอร์ จะออกเดินทางแบบลับๆผ่านประเทศปากีสถานตอนเช้าตรู่เวลา 3.30 ของวันที่ 21 กรกฎาคม 1971 โดยบุคคลท่านแรกที่ ดร.คิสซิงเจอร์ เข้าพบปะก็คือ “นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล” ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับประธานเหมา เจ๋อตุง มากที่สุด
ทั้งนี้ในช่วงเวลาห่างกันเพียงสองปีดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตรัสเซียจากที่เคยมีความใกล้ชิดต่อกันกลับแปรเปลี่ยนหมางเมินกลายเป็นปฏิปักษ์และมีการปะทะกันตามพรมแดน มีผลทำให้จีนคิดหาช่องทางเชื่อมความสัมพันธ์กับสหรัฐฯด้วยเช่นกัน!!!
สำหรับแนวความคิดในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับจีนของประธานาธิบดีนิกสันนั้น ก็เพื่อต้องการที่จะยืมมือของจีนเข้าไปถ่วงดุลกับสหภาพโซเวียตรัสเซีย และยังไม่ต้องการให้จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว
และในที่สุดจากความสามารถในการเจรจาของดร.คิสซิงเจอร์ ก็ประสบผลสำเร็จ จนเป็นผลให้ประธานาธิบดีนิกสัน ออกเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1972 ซึ่งถือว่าเป็นจุดสูงสุดของการกลับมาเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ปรองดองระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ขาดการติดต่อทางการทูตถึง 25 ปี
การเดินทางไปเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสันครั้งนั้น ทำให้โลกเปลี่ยนไป โดยประธานเหมา เจ๋อตุง และ ประธานาธิบดีนิกสันได้ร่วมกันลงนามใน “แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้” ซึ่งมีข้อความระบุเอาไว้ว่า “ทั้งสองประเทศไม่ถือว่าเป็นศัตรูต่อกันอีกต่อไป”
การจับมือกันระหว่างประธานเหมา เจ๋อตุง และ ประธานาธิบดีนิกสัน ในครั้งครานั้นนับได้ว่าเป็นชัยชนะของทั้งสหรัฐฯและจีน!!! และจากบทบาทการเจรจาของดร.คิสซิงเจอร์ ในครั้งนั้น ก็ยังเป็นผลอันยิ่งใหญ่ทำให้สงครามเวียดนามยุติลงอีกด้วย โดยมีผลทำให้ในเวลาต่อมาท่านได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ
และ ดร.คิสซิงเจอร์ ยังผลงานดีเด่นอีกมากมาย เช่น การกำหนดนโยบายผ่อนคลายกับสหภาพโซเวียต การเข้าเจรจาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ และสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธเป็นต้น!!!
ส่วนช่วงเวลาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯกับจีนอย่างเป็นทางการที่น่าทึ่งที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1979 ในช่วงที่ “ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์” สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยสหรัฐฯกล่าวยอมรับ “รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนปัญหาไต้หวันก็ยังเป็นเรื่องคลุมเครือที่ต่างฝ่ายต่างตีความเข้าข้างตน จนกลายเป็นปัญหาขัดแย้งต่อกันตราบเท่าทุกวันนี้
อนึ่งจีนมองว่าไต้หวันเป็นเกาะที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่ปกครองตนเองเป็นมณฑลที่แตกแยกและสุดท้ายจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของปักกิ่ง
แต่ไต้หวันมองว่า ตนเองแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยประเทศของตนมีรัฐธรรมนูญและผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
แต่ทว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวย้ำตลอดเวลาว่า “การรวมชาติ” ระหว่างจีนกับไต้หวันนั้น “ต้องทำให้สำเร็จ” โดยมิได้ตัดประเด็นด้านการใช้กำลังหากจำเป็น อาจจะสืบเนื่องมาจากจีนต้องการจะบรรลุผลตามเป้าหมาย!!!
ส่วนท่าทีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ยืนกรานตลอดเวลาว่า “เมื่อใดก็ตามที่ไต้หวันถูกจีนเข้ารุกราน สหรัฐฯจะตอบโต้ในทันท่วงที”
แต่เนื่องจากขณะนี้ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังมีความบาดหมางต่อกัน จึงเป็นที่มาที่ทำให้จีนต้องหันไปพึ่งบารมีขอความช่วยเหลือ โดยเชิญให้ ดร.คิสซิงเจอร์ เดินทางเข้าพบปะพูดคุยอีกครั้งหนึ่ง
และทันทีที่ดร.คิสซิงเจอร์ เดินทางถึงประเทศจีนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2023 การต้อนรับเป็นไปแบบใหญ่โตปูพรมแดง และในขณะที่พบปะหารือกันอยู่นั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวว่า “ดร.เฮนรี คิสซิงเจอร์ ก็คือเพื่อนเก่า” และยังได้กล่าวยกย่องดร.คิสซิงเจอร์ตลอดเวลาโดยตอนหนึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า “ผมหวังว่าคุณยังคงมีบทบาทสำคัญในการนำความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯกับจีนให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง”
การต้อนรับอย่างกระตือรือร้นที่จีนมีต่อดร.คิสซิงเจอร์ในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการจะประสานรอยร้าวที่กำลังมีกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนักการเมืองในสภาคองเกรสสหรัฐฯที่ต่างแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนนั่นเอง!!!
โดยกลยุทธ์ในการต้อนรับดร.คิสซิงเจอร์ ของจีนในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากจีนมองว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามที่จะเข้าไปควบคุมจีนทั้งทางด้านการทหาร ด้านภูมิศาสตร์และทางด้านเทคโนโลยี
อนึ่งจีนตระหนักดีว่าในช่วงที่ดร.คิสซิงเจอร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่นั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯถือเป็นยุคทองที่แน่นแฟ้นไร้รอยแตกร้าว
อย่างไรก็ตามหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ความความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังเข้าสู่ความตึงเครียด แต่กลับปรากฏให้เห็นว่าทั้งสหรัฐฯและจีนกำลังปรับตัวเริ่มกลับเข้าสู่โหมดความร่วมมือต่อกันในประเด็นต่างๆ เช่น ด้านการค้า การวิจัย/การพัฒนา/การกำหนดนโยบายร่วมกันด้าน AI และการตกลงแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมาการที่ “ดร.เฮนรี คิสซิงเจอร์” สามารถเจรจาจนทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯกับจีนเกิดมีความเข้มแข็งขึ้น โดยที่ผ่านมาท่านก็มิได้หยุดแต่เพียงแค่นั้น เนื่องจากท่านยังคงเดินทางได้เยือนจีนอย่างสม่ำเสมอมากกว่าหนึ่งร้อยครั้งก็ตาม แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าปัญหาที่เกี่ยวกับไต้หวันกำลังคาราคาซังเรื้อรังที่ทำให้ทั้งจีนและสหรัฐฯต่างก็อึดอัดคาใจแก้ไม่ตก ซึ่งปัญหานี้อาจจะกลายเป็นชนวนใหญ่นำไปสู่การเผชิญหน้าต่อกันอีกครั้งหนึ่งได้ละครับ