รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.66 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการ กทพ. เป็นประธานประชุมหารือแนวทางการปรับอัตราค่าผ่านทางของทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี ปี 2566 ที่จะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.66 ซึ่งเป็นไปตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการทางพิเศษฉลองรัช และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (Revenue Transfer Agreement : RTA)

ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทางพิเศษฯ และประชาชน โดยได้หารือร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากสำนักปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กทพ. ผู้แทนจากอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ในเขตทางพิเศษ รวมถึงผู้แทนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (กองทุนรวมฯ) (TFF) ประกอบด้วย บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาฯ แต่เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ทางพิเศษฯ และประชาชน กทพ. จะขอให้ทางกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ช่วยพิจารณา หาก กทพ. จะขอให้ส่วนลดค่าผ่านทางเฉพาะผู้ใช้บัตร Easy Pass เพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าผ่านทาง จะเป็นการส่งเสริมการใช้บัตร Easy Pass และช่วยแก้ปัญหารถติดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางฯ ซึ่งทางกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ได้รับเรื่องไปหารือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ต่อไป

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงกองทุน TFF ซึ่งจะมีการปรับค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษฉลองรัชทุก 5 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ก.ย.66 โดยคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค ปรากฏว่าปรับขึ้นประมาณ 10% หรือปรับขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาท อย่างไรก็ตามเป็นสัญญาที่ กทพ. ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปรับค่าผ่านทางตามเงื่อนไขก็จะเข้าข่ายการทำผิดสัญญาได้ โดยที่ผ่านมา กทพ. นำเงินที่ได้จากการระดมทุนในกองทุน TFF มาใช้ลงทุนพัฒนาโครงการทางด่วน และมีข้อกำหนดต้องโอนรายได้ค่าผ่านทางเป็นผลตอบแทนให้กับกองทุน TFF

โดยปัจจุบันทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา -อาจณรงค์) ระยะทาง 28.2 กิโลเมตร(กม.) มีอัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ 40 บาท, รถ 6-10 ล้อ 60 บาท และมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป 80 บาท มีปริมาณการจราจรประมาณ 1.9 แสนคันต่อวัน ส่วนทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ระยะทาง 55 กม. มีอัตราค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ เริ่มต้น 20 บาท สูงสุด 55 บาท, รถ 6-10 ล้อ เริ่มต้น 50 บาท สูงสุด 145 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป เริ่มต้น 75 บาท สูงสุด 220 บาท มีปริมาณการจราจรประมาณ 1.2 แสนคันต่อวัน.