วันที่ 25 ก.ค.66 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักมาก ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 12/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศไทย ทำให้ฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2566 ดังนี้
📍ภาคเหนือ จังหวัดตาก และอุทัยธานี
📍ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
📍ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
📍 ภาคใต้ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
โดยกรมชลประทาน จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก ความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ตลอดจนสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460