กนง.-กนส.จับตาปัญหาผิดนัดชำระหนี้ครัวเรือน-ตราสารหนี้-บริษัทถูกลดอันดับเครดิตพุ่ง คุมเข้ม บจ.-บลจ.-ผู้ตรวจสอบบัญชี ป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่อง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
-ระบบการเงินไทยปัจจุบันยังมีเสถียรภาพ แต่ยังเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจสูงขึ้นในระยะต่อไปจาก (1) ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและ SMEs ในภาคการผลิตและการค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และ (2) ความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดตราสารหนี้ จากความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ระดมทุนบางรายที่อาจสูงขึ้น
-เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ส่งผลให้รายได้และฐานะการเงินโดยรวมของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงยังต้องติดตามฐานะการเงินของ SMEs ในกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าจากช่วงสถานการณ์โควิด 19 และกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก โดยที่ประชุมประเมินว่า แม้ความเปราะบางของภาคครัวเรือนและ SMEs ดังกล่าว อาจส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อบางกลุ่มมีแนวโน้มด้อยลงบ้าง แต่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการหรือดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้ และจะไม่นำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด (NPL cliff)
-ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงสูงขึ้น จากการผิดนัดชำระหนี้ที่มีมูลค่าสูงกว่าปีก่อน และการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและแนวโน้มอันดับเครดิต (credit rating and outlook) ในระยะหลัง จากปัจจัยเสี่ยงเฉพาะราย ขณะที่ตลาดทุนมีความผันผวนเพิ่มขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และปัญหาธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน
ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่า แม้ผลกระทบต่อระบบการเงินยังอยู่ในวงจำกัด และตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ในระยะข้างหน้า ยังต้องติดตามพัฒนาการของตลาดการเงิน และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสาร รวมถึงให้ความสำคัญกับการร่วมมือระหว่างองค์กรกำกับดูแลในการประเมินผลกระทบ การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ หากเกิดสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งสถาบันการเงิน ตลาดการเงิน บริษัทประกันภัย และระบบการเงินในเวลาเดียวกัน อาทิ ปัญหาจากการดำเนินงานของธุรกิจขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงมาตรการยกระดับการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น อาทิ บริษัทมหาชน และ/หรือ บริษัทจำกัดที่ออกหลักทรัพย์ในตลาดทุน บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี บริษัทจัดอันดับเครดิต เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน โดยที่ประชุมเห็นว่า แม้สถาบันการเงิน ตลาดการเงิน และบริษัทประกันภัย โดยรวมมีสภาพคล่องและฐานะการเงินที่เข้มแข็งเพียงพอรองรับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาดมากภายใต้การทดสอบภาวะวิกฤติ(macro stress test) ประจำปี 2566 ที่ ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้จัดทำร่วมกัน แต่ในระยะต่อไป การเตรียมการรับมือของผู้กำกับดูแล ควรครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจมีรูปแบบแตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้น เช่น กรณีวิกฤติสภาพคล่องจากการไหลออกของเงินฝากอย่างรุนแรง และรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นในอดีต หรือปัจจัยอื่นๆที่อาจส่งผลให้ระบบการเงินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นในไทยอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน จะร่วมกันติดตามและประเมินความเสี่ยงต่างๆอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้นโยบายที่เหมาะสม และทันการณ์ในการดูแลระบบการเงินไทยให้มีเสถียรภาพ สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน