กรมการข้าวส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวลดต้นทุนการผลิต โดยศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทขับเคลื่อนนโยบายจากกรมการข้าว วิธีการลดต้นทุนการผลิตข้าว 8 ขั้นตอน ซึ่งวิธีการทั้ง 8 ขั้นตอนนี้สามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นและเพิ่มผลผลิตได้ในเวลาเดียวกัน

นางปรารถนา สุขศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ได้เปรียบหลายประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีดินดี น้ำดี ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการทำนาปลูกข้าว ปัจจุบันประเทศคู่แข่งของไทย ได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม ผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีต้นทุนการผลิตต่ำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่ประเทศไทยมีการใช้ต้นทุนการผลิตที่สูง ซึ่งมาจากปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทจึงเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายลดต้นทุนการผลิตข้าว ที่สามารถช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ ด้วยวิธีการ 8 ขั้นตอน 

ขั้นตอนที่ 1 ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ความงอกต้องไม่ต่ำกว่า 80% เพราะเมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกสูงช่วยเรื่องของการลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ขั้นตอนนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 300 บาท 

ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมดิน เช่น ห้ามเผาฟาง เพราะทำลายสภาพดิน ปรับหน้าดินให้ เรียบสม่ำเสมอ การเตรียมดินที่ดี จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ ประมาณ 250 บาทต่อไร่

ขั้นตอนที่ 3 กำจัดวัชพืช ใช้สารกำจัดวัชพืชให้ตรงกับชนิดของวัชพืชที่ระบาด โดยใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชทันทีหลังหวานข้าวและก่อนวัชพืชงอก โดยห้ามเกิน 4 วันหลังหว่านข้าว 

ขั้นตอนที่ 4 การใส่ปุ๋ยเคมี ใช้ถูกสูตร ถูกอัตรา และถูกระยะเวลา 

ขั้นตอนที่ 5 การป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว หากเกษตรกรปฏิบัติตาม 4 ขั้นตอนข้างต้นจะลดการระบาดของโรคและแมลงได้ และต้องหมั่นตรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ 

ขั้นตอนที่ 6 การจัดการน้ำอย่างเหมาะสม หลังทำเทือกเสร็จแล้วต้องระบายน้ำออก ให้ดินแห้งแบบหมาด ๆ แล้วจึงหว่านข้าวงอก ช่วงข้าวยังเล็กให้รักษาระดับน้ำอยู่ที่ 5 เซนติเมตร ช่วงข้าวแตกกอ สร้างรวงอ่อน และข้าวออกดอกให้รักษาระดับน้ำอยู่ที่ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำได้ 30% หรือประมาณ 360 บาทต่อไร่ 

ขั้นตอนที่ 7 การเก็บเกี่ยวควรเก็บเกี่ยวข้าวระยะพลับพลึงหรือหลังข้าวออกดอก 30 วันเท่านั้น 

ขั้นตอนที่ 8 การทำบัญชีฟาร์ม โดยต้องบันทึกต้นทุนการผลิตตลอดฤดูการปลูกข้าว จะทำให้เห็นว่า สามารถปรับลดต้นทุนอะไรลงได้บ้าง 

นายบุญฤทธิ หอมจันทร์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านพระแก้ว ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรีจังหวัดชัยนาท เล่าว่า แต่เดิมทำนาโดยไม่มีภาครัฐสนับสนุน เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ส่วนใหญ่ประสบปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน และปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดชัยนาทประสบปัญหาขาดทุน เรียกได้ว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากผลิตโดยไม่มีความรู้เรื่องการปลูกข้าว เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้หลังจากที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทได้เข้ามาส่งเสริมให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี โดยมีการอบรมให้ความรู้เรื่องการปลูกข้าวในรูปแบบใหม่แก่สมาชิกภายในกลุ่ม โดยแนะนำวิธีการลดต้นทุนในการปลูกข้าว ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การลดต้นทุนการผลิตข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทได้แนะนำไปทั้งหมด 8 ขั้นตอนนั้น จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และนอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มผลผลิตได้ ทั้งนี้ยังทำให้ผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีมาตรฐาน สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกได้ โดยศูนย์ข้าวชุมชนบ้านพระแก้ว ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นต้นแบบการลดต้นทุนการผลิตข้าวที่ได้ประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ โดยได้รับความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท จังหวัดชัยนาท ส่งผลให้ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านพระแก้ว ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และส่งต่อความรู้ที่ได้รับจากศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทสู่ชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดชัยนาทได้อย่างยั่งยืน