เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 ก.ค. 66 นายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ พร้อมนายบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิต ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านพ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การที่ที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค. มีมติว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาโหวตลงมามติเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 41 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

โดยนายพรชัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ตนถือว่าเป็นผู้ที่ถูกกระทบสิทธิโดยตรง เพราะเป็นผู้ที่ไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. และเลือกสส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตของพรรคก้าวไกล ซึ่งตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด จะสามารถเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เมื่อมีการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค แล้วนายพิธาไม่ได้รับเลือก และเมื่อนัดลงมติใหม่ ในวันที่ 19 ก.ค. กลับถูกขัดขวาง โดยอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 โดยอ้างว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ 

นายพรชัย กล่าวต่อว่า ตนมองว่ารัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา159 ประกอบมาตรา 272 ตราบใดที่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรียังไม่เสร็จสิ้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีย่อมสามารถถูกเสนอชื่อได้เรื่อยๆ ดังนั้น มติดังกล่าว จึงเท่ากับรัฐธรรมนูญถูกละเมิดโดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 หรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ขอให้มีคำสั่งให้ที่ประชุมรัฐสภายุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

นายพรชัย ยังให้ความเห็นว่า ในหลักการแล้ว มติของที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค. ยังจะมีผลกระทบถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของทุกพรรคนับจากนี้ เพราะแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเสนอชื่อ จะได้รับการโหวตเพียงครั้งเดียว หากไม่ผ่านพรรคการเมืองนั้น ก็จะไม่สามารถเสนอชื่อให้สมาชิกรัฐสภาโหวตได้อีก 

ด้านนายบุญส่ง กล่าวว่า การยื่นเรื่องครั้งนี้ เราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เห็นว่าบ้านเมืองต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจน ซึ่งมติที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค. ยังมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย หากไม่ทำให้เกิดความชัดเจนในอนาคต ก็จะมีการตีความที่แตกต่างกันไป ทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมืองได้ จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยโดยเร็ว

ส่วนพ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า จากหารือเบื้องต้นของเรื่องนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริง คือการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในวันที่19 ก.ค มีข้อมูลครบถ้วนอยู่แล้ว เหลือเพียงในส่วนของข้อกฎหมาย ที่จะต้องพิจารณาโดยเฉพาะตามมาตรา 46 ประกอบมาตรา 48 ของพ.ร ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้เป็นการกระทำ เป็นการลงมติของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งต้องพิจารณาว่า เป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และประเด็นที่สำคัญของการจัดส่งให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัย ก็คือความเป็นผู้เสียหาย ซึ่งตามกฎหมายของศาลกำหนดว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพโดยตรง และได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้น ย่อมมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยผ่านกลไกของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่ถ้าเลยกรอบเวลาดังกล่าว ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ์ก็สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตาม ทราบดีว่าเรื่องนี้ อยู่ในความสนใจของประชาชน และประธานรัฐสภามีการนัดหมายเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีแล้ว ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะพยายามพิจารณาให้เร็วที่สุด 

เมื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ ก่อนวันที่ 27 ก.ค. ที่ประธานรัฐสภานัดหมายโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่จะเร่งสรุปเรื่อง และนำเสนอที่ประชุมตรวจการพิจารณาโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม หลังนายพรชัยได้ฟังการตอบคำถามต่อสื่อมวลชนของเลขาผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว นายพรชัย ระบุว่าการละเมิดสิทธิของตนหมายความว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรียังไม่สิ้นสุด แต่สมาชิกกลับนำข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 มาละเมิดสิทธิ์ตน และผู้ที่ลงคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศ ซึ่งหากที่สุดแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับคำร้องนี้ ไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนก็คงไม่ไปต่อ เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนเองเสร็จแล้ว คงจะปล่อยให้พรรคการเมืองอื่นดำเนินการกันไป