วันที่ 21 ก.ค. 66 ที่ทำการพรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวภายหลังการแถลงผลการหารือแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วม ถึงกรณีการลดเพดานการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล เห็นด้วยหรือไม่ ว่า การขอแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นความผิดอะไรเลย ตนเคยอภิปรายในสภาฯ ว่า การแก้ไขมาตรา 112 มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 และเกิดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2519

“หากพ.ศ.นี้ จะมีการแก้ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะมาตรา 112 เป็นประมวลกฎหมายอาญา แก้รัฐธรรมนูญยังแก้ได้ ทำไมกฎหมายอาญาจะแก้ไม่ได้ ใครคิดจะกฎหมายอาญาเป็นเรื่องปกติ ผมผ่านประสบการณ์มาอย่างชัดเจน เป็นผู้ถูกกระทำ ผมโดนข้อหา ม.112 มาแล้ว ตอนผมเป็นผบ.ตร. เบื้องบนมาบอกให้ปลดล็อกให้หมด เป็นการนำพระองค์ท่านมารังแกประชาชน ผมสั่งให้ฟ้องหมดเลย มาตรา 112 เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น จะให้ผมทำอย่างไร เขาอ้างอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้”

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อในกรณีการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. วาระการตีความข้อบังคับรัฐสภาที่ 41 ว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สามารถเสนอซ้ำได้หรือไม่นั้น หากไปตรวจสอบจะพบว่า ตนไม่ได้ไปลงคะแนน เพราะตนเห็นว่าผิดรัฐธรรมนูญ ถ้าตนไปร่วมลงคะแนนด้วย เท่ากับตนไม่ยอมรับเขา ตนจึงไม่ลง แต่ตนก็ไม่ได้ไปไหน

ส่วนการนำเรื่องนี้ไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียหาย หรือเกี่ยวข้องหรือไม่ และถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ หากไม่ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่รับคำร้อง หากผู้ตรวจการแผ่นดินรับเขาก็ผิด

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 26 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ตนจะดำเนินการนำเรื่องนี้ไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเอง และขอให้สมาชิกพรรคต่างๆ ช่วยลงชื่อด้วย เพื่อปลดล็อกผลมติการประชุมรัฐสภาในครั้งที่แล้วให้ได้ เพราะเมื่อยังไม่ได้ปลดล็อก จึงถูกบังคับใช้มาเรื่อยๆ จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี หากล็อกยังไม่ถูกปลดก็จะถูกบีบอยู่เช่นนี้

ส่วนวิธีการจะทำได้อย่างไรนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ยกกรณีเสนอชื่อของนายพิธา ในครั้งที่ 2 ขึ้นมาว่า สมมติกรณีนี้ถูกปลดล็อกแล้ว เท่ากับว่าเสนอได้ แต่มติเช่นนั้น ทำให้ตนกลายเป็นผู้เสียหาย ตนจึงฟ้องผู้ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการสืบสวน และดำเนินคดีกับนักการเมืองที่กระทำการทุจริต ประพฤติมิชอบ และกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยตนจะดำเนินการพร้อมเรียกร้องค่าเสียหาย

“จะเป็นนายกรัฐมนตรี ดันไม่ให้เป็น ฟ้องไปสักพันล้าน พอหรือเปล่าก็ไม่รู้”