จากการกวดขันจับกุมของทางภาครัฐในการปราบปรามร้านขาย "บุหรี่เถื่อน" ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเร็วๆนี้ ถือเป็นการปราบปรามครั้งใหญ่  ตอกย้ำ  "บุหรี่เถื่อน" ยิ่งปราบ ยิ่งระบาด  มีการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ อาทิ จ.สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี ฯลฯ  ผ่านขบวนการใหญ่นำเข้าแบบเลี่ยงภาษี ขณะที่บางร้านเปิดจำหน่ายอย่างเปิดเผยไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ขณะที่โทษทางกฎหมายในการเอาผิดคนขายบุหรี่เถื่อนนั้นก็มี คือ ร้านค้าที่ขายบุหรี่ที่ไม่ได้ติดราคา และไม่มีแสตมป์ยาสูบ โดยครอบครองไว้ไม่ต่ำกว่า 500 กรัม และไม่ได้เป็นผู้ผลิต มีความผิดตามมาตรา 19 กับ มาตรา 24 (ขายยาสูบที่ไม่ได้ปิดแสตมป์) ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พุทธศักราช 2509 มีบทลงโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 49 คือปรับเป็นจำนวนเงิน 10 เท่า ของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องติด และถ้าไม่ได้ติดราคาสินค้าเอาไว้ด้วยจะมีโทษปรับคิดเป็นกรัมละ 2 บาท รวมถึงความผิดตามมาตรา 50 ปรับเป็นเงิน 15 เท่าของค่าแสตมป์ที่ต้องปิด

ในบางกรณีจะมีบางร้านหัวหมอมีการทำแสตมป์ยาสูบปลอม หรือที่ผ่านการใช้แล้ว แบบนี้ถือเป็นความผิดถึงขั้นจำคุกกันเลยทีเดียว ตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 43 “ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้วเพื่อขายหรือนำออกไปใช้” มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท ตามบทกำหนดลงโทษในมาตรา 53 เคยมีอยู่คดีหนึ่งที่พ่อค้าขายของออนไลน์โดนปรับไปเกือบ 11 ล้านบาท หลังจากตรวจพบว่าผลิตยาสูบโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องอัดบุหรี่จำนวนมาก รวมไปถึงเครื่องหั่นใบยาสูบ

แต่ถึงอย่างไร!!! ก็ยังมีการจับกุมให้เห็นอยู่ต่อเนื่อง โดยทางสรรพสามิตภาคที่ 9 “นายภาณุพงศ์ ศรีเกตุ” ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 9 ให้ข้อมูลจากการจับกุมบุหรี่หนีภาษีลอตใหญ่ จำนวน 1,100 ลัง ประมาณ 314,500 ซอง รวมกว่า 6 ล้านมวน มูลค่าประมาณ 28 ล้านบาท โดยคิดเป็นค่าภาษีประมาณ 20 ล้านบาท ค่าปรับเกือบ 300 ล้านบาท ซึ่งการจับกุมบุหรี่เถื่อนครั้งนี้เป็นลอตใหญ่ที่สุดอีกลอตหนึ่งเท่าที่เคยจับได้

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ "บุหรี่เถื่อน-บุหรี่ปลอม" เป็นที่นิยม คือ  "ราคา" ที่ถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายหลายเท่าตัว  สวนทางกับการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2564 ที่ขยับราคาบุหรี่ในประเทศไทยปรับสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยบุหรี่ตราที่ขายในราคา 51 บาท ปรับขึ้นเป็น 60 บาท และ 66 บาท

ซ้ำร้ายปัจจุบัน "ธุรกิจบุหรี่เถื่อน" ยิ่งเติบโต เมื่อมีการซื้อ-ขายกันอย่างแพร่หลายผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ไม่ต้องมีหน้าร้านให้ถูกเจ้าหน้าที่เพ่งเล็ง เมื่อพบการกระทำผิด ก็สามารถปิดเว็บไซต์แล้วเปิดใหม่ได้ไม่จำกัด ที่สำคัญการขายผ่านออนไลน์ยังเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและตรงความต้องการอีกด้วย

จากข้อมูลบุหรี่เถื่อนที่ "สมาคมการค้ายาสูบไทย" เผยแพร่เรื่องการซื้อขายผ่านโลกออนไลน์ พบว่าการถามซื้อและเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เกี่ยวกับ  "บุหรี่เถื่อน" ในระยะเวลา 3 เดือน คือ เดือน ก.ค. ส.ค. และก.ย. 2565 มีความเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 97% โดยช่องทางที่ถูกใช้เพื่อพูดถึง เรื่องบุหรี่เถื่อนมากที่สุด  คือ ทวิตเตอร์ 91% รองลงมาคือเฟซบุ๊ก 9% และเว็บบอร์ด 1% ขณะที่ สัดส่วนการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายเพิ่มจาก 6.2% ในปี 2563 เป็น 10.3% ในปี 2564 สูงสุดในรอบ 10 ปี ทำรัฐสูญเสียรายได้กว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี  ร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ถูกกฎหมายกว่า 500,000 ราย และชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัว ต้องขาดรายได้และกำไรหายไปกว่าร้อยละ 50 ต่อเดือน

การแพร่ระบาดของ "บุหรี่เถื่อน-บุหรี่ปลอม" กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข เพราะนอกจากการจับกุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างหละหลวม จะสะท้อนถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้กระทำผิด จนกลายเป็นต้นตอของการทุจริตคอรัปชั่น ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลแล้ว ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบต่อกิจการยาสูบของรัฐ ที่ถูกบุหรี่เถื่อนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดและรายได้ไป ชาวไร่ยาสูบต้องเดือดร้อน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต กระทบรายได้ของรัฐที่ต้องสูญเสียไปกับธุรกิจใต้ดินดังกล่าวจำนวนมหาศาล 

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับการปราบปรามเรื่องสินค้าผิดกฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งบุหรี่ สุรา และสินค้าอื่นอย่างเข้มข้น รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ตัดวงจรอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลจริงกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขนสินค้าเถื่อน ไม่เช่นนั้น อาจถูกตั้งคำถาม ไล่จับกันมานานหลายสิบปี เหตุใดยังไม่หมดไปสักที หรือผู้มีอำนาจก็มี "ผลประโยชน์ใต้ดิน"

เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยด่วน!!!