ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
เครื่องประโลมใจของบางคน บางทีก็ต้องมีทั้งเรื่องลี้ลับร่วมกับรสพระธรรม
ประภาศรีเป็นเพื่อนในที่ทำงานของผมอีกคนหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่แบ่งบุคลากรเป็น 3 พวกเรียกว่า “สาย” พวกแรกคือ สาย ก. ได้แก่พวกอาจารย์ที่ทำการสอนและวิจัย พวกต่อมาคือ สาย ข.เป็นฝ่ายสนับสนุน เช่น ผลิตสื่อการเรียนการสอน ให้บริการนักศึกษา และจัดการสอบการวัดผล เป็นต้น ส่วนอีกพวกหนึ่งก็คือ สาย ค. เป็นคนที่ทำงานทั่วไป เช่น ดูแลอาคารสถานที่และรักษาความปลอดภัย ที่รวมถึงบรรดาลูกจ้างและเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจ
ผมเป็นอาจารย์จึงอยู่ใน สาย ก. ส่วนประภาศรีเป็นเจ้าหน้าที่จัดบริการการศึกษา จึงอยู่ในสาย ข. แม้ว่าในระบบราชการ สาย ก.ดูจะ “เหลื่อม ๆ” สูงกว่าสาย ข.อยู่พอควร แต่ด้วยความเป็นเพื่อน เราก็ดูจะมีฐานะที่เท่าเทียมกัน และคบกันด้วยความเท่าเทียม ตอนที่เข้ามาเป็นข้าราชการด้วยกันใหม่ ๆ รุ่นเราตอนนั้นมีประมาณ 30 คน เป็น สาย ก. และสาย ข. อย่างละครึ่ง พวกเราต้องได้รับการอบรมการเป็นข้าราชการใหม่ร่วมกัน ตลอดเวลากว่า 2 เดือนของการอบรม ทำให้เราสนิทสนมกันดีมาก แต่พอแยกย้ายกันกลับเข้าหน่วยงานแล้ว บางคนก็ยังสนิทสนมและคบกันด้วยดีต่อไป แต่บางคนก็เมินหมางร้างราและห่างเกินกัน
ประภาศรีเป็นคนที่ “จัดว่าสวย” คือถ้าคนที่ชอบความสวยแบบสะดุดตา เขาก็จะไม่เห็นความสวยนั้นในตัวประภาศรี แต่ก็เป็นความสวยตามแบบฉบับที่ควรเป็น คือรูปร่างดี ผิวพรรณสวยสะอาดแม้จะค่อนข้างซีดขาว หน้าหวานคมคายแม้จะไม่แต่งหน้า และก็แต่งตัวเรียบร้อยแม้จะไม่ทันสมัยหรือหลากหลาย หรือถ้ายิ่งได้พูดคุยด้วย ก็อาจจะไม่เห็นความสวยอะไรอีกเลย เพราะประภาศรีเป็นคนพูดตรง แบบที่เรียกว่าปากกับใจตรงกัน รวมทั้งไม่มีกริยามารยาใด ๆ รักชอบเกลียดชังก็แสดงออกตรง ๆ แม้จะไม่ก้าวร้าว แต่บางคนก็รับความตรงนั้นไม่ได้ จนดูเหมือนว่าประภาศรีจะเป็น “หญิงที่ไม่ใช่หญิง” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเธอจะเป็นทอมเป็นดี้ แต่เป็นเพราะว่าเธอไม่ใช่ทั้งกุลสตรีและสตรีที่มากมารยา หรือเป็นผู้หญิงอีกพวกหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร
ตอนที่เราอบรมเป็นข้าราชการใหม่ด้วยกัน ผมก็เคยคิดสนใจประภาศรีในทำนองที่อยากจะจีบเป็นแฟนอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนั้นผมมีแฟนอยู่แล้วประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็ด้วยบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไปดังกล่าว ทำให้ผมไม่ได้คิดอะไรเกินเลยไปมากกว่าความเป็นเพื่อนธรรมดา ๆ แม้ว่าเพื่อนในรุ่นหลายคนจะมองว่าเธอเป็น “ตัวประหลาด” แต่ผมกลับมองว่าเธอคือ “ประสบการณ์พิเศษ” ที่ควรศึกษา และทำให้เราคบกันได้เนิ่นนาน แม้ว่าจะเกษียณจากราชการนั้นแล้ว
เราสองคนพบกันบ่อย ๆ ในช่วงที่มีกิจกรรมก่อนจบของนักศึกษา เนื่องจากมหาวิทยาลัยของเราเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่มีชั้นเรียนหรือห้องเล็คเช่อร์ แต่สอนทางเอกสารที่ส่งให้ทางไปรษณีย์เป็นสื่อหลัก มีรายการโทรทัศน์เป็นสื่อเสริม และมีการจัดอาจารย์ไปสอนเสริมในวิชาหลัก ๆ บางวิชาของแต่ละคณะ (จนถึงปัจจุบันจึงได้มีการสอนออนไลน์ และมีสื่อต่าง ๆ ให้เลือกอย่างหลากหลาย) นักศึกษาจะได้พบกับอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ในกิจกรรมใหญ่ ๆ 2 กิจกรรม คือการปฐมนิเทศเมื่อเริ่มเป็นนักศึกษาใหม่ โดยมหาวิทยาลัยจะจัดอาจารย์และบุคลากร 3-4 คน ไปพบนักศึกษาในแต่ละจังหวัด กับอีกกิจกรรมหนึ่งเมื่อนักศึกษาเรียนไปจนเหลืออีก 3 วิชาสุดท้ายในเทอมสุดท้าย ก็จะจัด “อบรมเสริมประสบการณ์วิชาชีพ” หรือจะเรียกว่าปัจฉิมนิเทศนั้นก็ได้ แต่กิจกรรมนี้นักศึกษาต้องมา “กินนอน” ที่มหาวิทยาลัย 5 วัน 4 คืน เพื่อให้เกิดความเป็นหมู่คณะและความรู้สึกผู้พันระหว่างนักศึกษาด้วยกัน และระหว่างนักศึกษากับมหาวิทยาลัยให้ได้พอสมควร จากนั้นจึงจะไปเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรได้
กิจกรรมอบรมเสริมประสบการณ์วิชาชีพนี้จัดกันปีละหลายครั้ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาที่จะจบการศึกษาในแต่ละปีนับหมื่น ๆ คน ประภาศรีอยู่ในฝ่ายที่ต้องจัดเตรียมเอกสารในการอบรมให้กับนักศึกษาเหล่านั้น แต่ละครั้งก็มีหลายชิ้นเพราะมีกิจกรรมมากมายในคณะต่าง ๆ 11 คณะ แต่ละรอบก็จะมีนักศึกษาไม่ต่ำกว่า 500 คน จึงเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก ยิ่งอาจารย์ของบางคณะชอบเปลี่ยนกิจกรรมหรือมีเอกสารเพิ่มเติมอยู่เสมอ ก็ยิ่งทำให้งานในฝ่ายของประภาศรีหนักหนามากขึ้น ซึ่งเธอชอบมาบ่นให้ผมฟัง จนบางทีเธอก็เข้าใจไปว่าพวกอาจารย์นั้นแกล้งเธอ เพราะเธอพูดไม่เพราะจึงหางานให้ทำมาก ๆ จนสาหัส
ในการอบรมจะมีอาหารเลี้ยงนักศึกษาและอาจารย์วันละ 6 มื้อ คือ มื้อหนัก 3 มื้อ เช้า เที่ยง และเย็น กับมื้อเบาหรือของว่าง ชา กาแฟ อีก 3 มื้อ คือ สาย บ่าย และค่ำ เพราะต้องอบรมกันแต่เช้า ที่ต้องมีการออกกำลังกายด้วย จนถึงกลางคืน ที่วิชาสุดท้ายกำหนดไว้ 3 ทุ่ม ทั้งนี้พวกอาจารย์กับบุคลากรจะมีบริเวณจัดให้ทานอาจารย์แยกออกไปต่างหาก โดยพวกอาจารย์มักจะมาทานก่อนเวลาที่นักศึกษาจะลงมา ส่วนบุคลากรอย่างประภาศรีนั้นมักจะต้องมาทานหลังจากที่นักศึกษาขึ้นชั้นเรียนในแต่ละคาบนั้นแล้ว แต่ผมนั้นเป็นคนรับประทานไม่เป็นเวลา ส่วนมากมักจะลงไปรับประทานช้ากว่าอาจารย์คนอื่น ๆ จึงได้ไปทานในช่วงที่บุคลากรมาทานเป็นประจำ และผมก็ชอบที่จะไปนั่งคุยกับประภาศรี ที่บ่อยครั้งจะเห็นเธอนั่งอยู่คนเดียว บางทีเราก็คุยกันเป็นเวลานาน ๆ ในเวลาที่เธอว่าง หรือในเวลาที่เธอ “อยากจะพูด” โดยเฉพาะในช่วงที่เพิ่งเจอปัญหาหนัก ๆ นั้นมา
เรารับราชการอยู่ด้วยกันกว่า 30 ปี และเรื่องราวต่อไปนี้เกิดจากการปะติดปะต่อจากการพูดคุยกันปีละนับสิบครั้งในช่วงเวลาอันยาวนานนั้น
ประภาศรีมีชื่อเล่นว่า “แหวว” พ่อเป็นชาวสวนและผู้ใหญ่บ้านอยู่แถวบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แม่ก็เป็นชาวสวนและแม่บ้านธรรมดา มีพี่ชาย 1 คน กับน้องสาวอีก 1 คน เธอเป็นลูกคนกลาง และดูเหมือนว่าจะ “ฉลาดน้อย” กว่าพี่และน้อง เธอถูกพ่อกับแม่ดุด่ามาตั้งแต่เด็ก ๆ เรื่องการเรียนที่ไม่ได้เรื่อง ตอนเรียนชั้น ป.1 เธอมักจะมีคำถามแปลก ๆ มาถามพ่อและแม่ที่บ้าน พอพ่อแม่ตอบไม่ได้ก็จะอารมณ์เสียใส่เธอเสมอ จนเธอไม่ถามอะไรเลยในเวลาต่อมา เธอเหมือนคนปัญญาอ่อนเพราะไม่พูดอะไร แม้แต่ในโรงเรียนเธอก็ไม่ค่อยพูดหรือตอบคำถามคุณครู ผลการเรียนก็ไม่ดีนัก และเป็นเช่นนั้นมาจนจบประถมปลาย
เธอชอบที่จะไปเที่ยวเล่นในสวนอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือช่วงปิดเทอม เธอมีเพื่อนวัยเดียวกันอยู่กลุ่มหนึ่งราว 7-8 คน เป็นเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงฝ่ายละครึ่ง และชอบที่จะเล่น “ขายข้าวขายแกง” หรือเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น เล่นเป็นผัวเมียก็มีอยู่ประจำ แต่ไม่ได้เป็นแนวลามกอนาจาร เพียงแต่จำเรื่องที่ผู้ใหญ่ชอบตำหนิติเตียนลูก ๆ ของตนนั้นมาล้อเลียน รวมถึงที่เล่นเป็นลิเกและร้องเพลง ตามสิ่งที่ได้ดูได้ฟังมาในละแวกชุมชนที่อยู่อาศัย โดยเด็กหญิงแหววมักจะได้รับบทนางรองหรือผู้ติดตามนางเอก ที่มีบทต้องคอยปกป้องนางเอกจากผู้ร้ายหรือพวกที่มาจีบนั้นอยู่เป็นประจำ ทำให้เธอต้องหาบทร้องหรือบทพูดที่เผ็ดร้อนเพื่อป้องกันนางเอก และขับไล่พวกผู้ร้ายหรือคนที่มาจีบนางเอกให้ถอยหนีไป
ชีวิตในวัยเด็กเธอได้พบกับเรื่องลี้ลับมากมาย ทั้งจากเรื่องที่ผู้ใหญ่ชอบเล่าหลอกเด็ก ๆ หรือจากที่เด็ก ๆ ด้วยกันชอบเอามาเล่าหลอกอำกันและกัน แต่ที่ทำให้เธอจดจำได้แม่นก็คือหลาย ๆ เรื่องที่เธอได้เจอเข้าด้วยตัวของเธอเอง ทำให้เธอต้อง “เป็นคนอย่างนี้” ที่เธอก็มีความพอใจในสภาพที่เธอเป็นอยู่นี้
ชีวิตนี้เกิดมาหนเดียวก็จริง แต่ด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่หล่อหลอม ก็อาจจะทำให้เรามีชีวิตเป็นหลายชีวิตก็ได้