"อีอีซี" เปิดรับฟังความเห็นแผนภาพรวมพัฒนา อีอีซี ระยะ 2 วางเป้า 5 ปีพัฒนางานสำคัญ 5 ด้าน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.66 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566–2570 โดยมีนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการฯ สายงานนโยบายและแผน และผู้บริหาร อีอีซี ร่วมนำเสนอ (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี รวมทั้งได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังคิดเห็น ตอบข้อซักถามจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี พ.ศ.2566- 2570 ในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญและทิศทางขับเคลื่อนองค์กร อีอีซี รวมทั้งเพื่อต่อยอดและทบทวนแผนภาพรวมฯ อีอีซี ในระยะที่ 1 (2561-65) ที่ผ่านมา โดยกรอบแนวคิดใน (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี (2566 -70) ปัจจัยสำคัญจะพิจารณาให้สอดคล้องการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายหลักรัฐบาล โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระดับโลก ซึ่งอีอีซี ได้สร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และจะนำข้อเสนอแนะ ไปปรับปรุง (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซีให้สอดคล้องตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ทั้งนี้ (ร่าง)แผนภาพรวมฯ อีอีซี มีกรอบแนวทางการพัฒนาที่สำคัญๆ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี 2) เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยอีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้เกิดมูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก 5 คลัสเตอร์หลัก การแพทย์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) BCG และบริการ พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ผลักดันให้คนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับการดำเนินงานแผนภาพรวมฯ อีอีซี ระยะที่ 1 (2561-65) ที่ผ่านมาได้เน้นการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานหลักทั้งด้านคมนาคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เตรียมความพร้อมด้านพื้นที่และแรงงาน สร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เกิดมูลค่าการลงทุนที่อนุมัติแล้วสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท จากที่วางเป้าหมายไว้ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ เอกชน (4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก) 661,012 ล้านบาท มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมลงทุน(บีโอไอ) 1,250,305 ล้านบาท และงบบูรณาการอีอีซี 70,271 ล้านบาท