ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือรายงานผลประกอบการครึ่งแรกของปี 66 มีกำไรสุทธิจำนวน 17.10 พันล้านบาท เติบโต 12.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือรายได้จากการดำเนินงาน จากการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งการเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติมซึ่งเป็นผลจากการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศในไตรมาสที่สอง
ผลประกอบการที่แข็งแกร่งได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงภาระการตั้งสำรอง เงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 3.1% จากสิ้นปี 2565 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ 9.1% และสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่ 4.5% ซึ่งครอบคลุมบริษัทในเครือแห่งใหม่ในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับครึ่งแรกของปี 2566:
-กำไรสุทธิ จำนวน 17,102 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 12.1% หรือจำนวน 1,849 ล้านบาท จากครึ่งแรกของปี 2565 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักมาจากรายได้จากการดำเนินงานในประเทศและรายได้เพิ่มเติมซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์การควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ
-เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 60,689 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 สะท้อนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และการควบรวมพอร์ตธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม
-เงินรับฝาก ลดลง 0.4% หรือจำนวน 6,857 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2565
-ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.52% จาก 3.36% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น
-รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 7.6% หรือจำนวน 1,254 ล้านบาท จากช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ รวมทั้งหนี้สูญรับคืน
-อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับสู่ 43.6% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 42.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น
-อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ค่อนข้างคงที่อยู่ที่ 2.31% ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 134 เบสิสพอยท์
-อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 161.7%
-อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.72% เทียบกับ 17.97% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรียังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการเป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ธนาคารประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งเป็นสองเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในภูมิภาค โดยการควบรวมบริษัทในเครือใหม่นี้ยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในระหว่างไตรมาส
ทั้งนี้หากไม่รวมปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากขึ้นและส่งผลบวกต่อไปยังภาคแรงงานและค่าจ้าง รวมทั้งจะช่วยรักษาแรงส่งของเศรษฐกิจให้ขยายตัว 3.3% ตามการคาดการณ์ ทั้งนี้ กรุงศรียังคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อไว้ที่ 3-5%
โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 2.01 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.80 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.70 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 299.62 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.72% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.02%