เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 20 กรกฎาคม 66 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติยึดตามข้อบังคับรัฐสภาที่ 41 ให้การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้อีก ว่า เป็นเหตุที่ปรากฎว่า เราไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ให้รัฐสภาเห็นชอบได้ เพราะถูกวินิจฉัยว่าเป็นญัตติ จึงถูกตีตกไป ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้น และจะเป็นข้อผูกมัดต่อไปด้วย เพราะคำวินิจฉัยของรัฐสภาถูกมัดด้วยข้อบังคับของตัวเอง ซึ่งข้อบังคับนี้ เป็นข้อบังคับเฉพาะของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เท่านั้น ถ้าเราสามารถเปลี่ยนไปใช้กับรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ผลผูกพันนั้นจะลดไป
ดังนั้น สิ่งที่ 8 พรรคร่วมจะต้องดำเนินการต่อไปด้วยเอ็มโอยูที่ทำต่อกัน เราให้สิทธิ์พรรคก้าวไกลในการดำเนินการทุกกระบวนการ ฉะนั้นการพูดคุยกันต้องรอให้ทางพรรคก้าวไกลนัดหมายมา ซึ่งเลขาธิการของทั้ง 2 พรรค ได้พูดคุยกันเบื้องต้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมแล้ว เดี๋ยวคงจะมีการนัดหมายกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ชื่อของนายพิธาไม่สามารถถูกเสนอซ้ำได้แล้ว นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าสภามีมติเช่นนี้ การวินิจฉัยข้อบังคับเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็มีผลผูกพัน เมื่อถามต่อว่า จะมีการเปลี่ยนรูปแบบหรือไม่ เช่นเสนอชิงคู่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าเขาวินิจฉัยว่าเป็นข้อบังคับที่ 41 มันก็สามารถใช้ข้อบังคับนั้นในตัวเองได้ มีระบุในวรรคท้ายว่า หากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปก็ทำได้
เมื่อถามว่า จะมีการเปลี่ยนเป็นเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย คู่กับนายพิธาหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เอาข้อบังคับเป็นหลักดีกว่า เมื่อรัฐสภาวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ ก็เอาข้อบังคับที่เกี่ยวกับญัตตินั้นมาใช้ ข้อบังคับที่ 41 ก็เช่นกัน อะไรที่สามารถปฏิบัติตามข้อบังคับ ก็ปฏิบัติได้ทุกอย่าง
เมื่อถามถึงกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาระบุว่าให้ยื่นตรวจสอบกรณีดังกล่าวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ นพ.ชลน่าน กล่าวว่านายบวรศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยข้อบังคับ เรื่องนี้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ก็ให้เป็นแนวทางเท่านั้น เมื่อถามอีกว่า จะใช้แนวทางนี้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของบุคคล ไม่ใช่สิทธิ์ของ สส. หากบุคคลใดที่เห็นว่าถูกละเมิดสิทธิ์ ก็สามารถไปร้องได้
เมื่อถามว่า เหตุการณ์นี้จะทำให้การทำงานของแปดพรรคร่วมมีปัญหาหรือไม่ เพราะแกนนำของพรรคก้าวไกลดูไม่พอใจ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่มีใครพอใจหรอก ตนก็ไม่พอใจ เพราะผลวินิจฉัยออกมาเป็นเช่นนี้ ตนก็พยายามหาทางออกให้ หากจะเสนอญัตติหักโดยใช้เสียงข้างมาก และไม่มีช่องทางที่ชอบด้วยข้อบังคับ ตนก็ไม่ยอม จึงได้พยายามเสนอให้เป็นอำนาจการวินิจฉัยของรัฐสภา แต่เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนั้นก็ต้องยอมรับ โดยหลักเราอยู่ในระบบรัฐสภาเสียงข้างมาก ก็ต้องยึดถือ แต่ความแคลงใจและความไม่พอใจคือ เสียงข้างมากไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
เมื่อถามย้ำว่า จะทำให้ระบบรัฐสภามีปัญหาหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า “มีครับ มีปัญหาแน่นอน แต่บทเรียนครั้งนี้ ก็สามารถนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขได้ เพราะข้อบังคับเกิดจากสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้กำหนด จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เมื่อหมดวาระของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในวันที่ 27 พ.ค. 67 เราก็มีความชอบที่จะแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนำเรื่องการให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี กำหนดไว้ในข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร อะไรที่เป็นข้อจำกัดในข้อบังคับการประชุม เราก็สามารถไปบัญญัติในข้อบังคับให้มันชัดเจนได้”
เมื่อถามว่า เป็นห่วงในกรณีที่ไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำ ได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เมื่อข้อบังคับถูกวินิจฉัยอย่างนี้ ทุกคนเป็นห่วง ตอนนี้พรรคเพื่อไทยตกเป็นภาระลำบาก เพราะเราได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อถามอีกว่า เป็นห่วงหรือไม่หากเสนอชื่อไปแล้วไม่ผ่าน และต้องเปลี่ยนตัวแคนดิเดตไปเรื่อยๆ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าเขาเห็นว่าเราไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ก็ยากมากที่จะผ่านด่านตรงนี้ไปได้ เป็นหน้าที่ของพรรคแกนนำที่ต้องแสวงหาความมั่นใจว่าจะผ่าน
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล จะยื่นกรณีดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็สมควร ก็ควรจะต้องดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยจะเริ่มดำเนินการพูดคุยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเมื่อไหร่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทางพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้มีการให้สมาชิกคุยกัน คงต้องดําเนินการให้เร็วก่อนวันที่ 27 กรกฎาคม
เมื่อถามว่า ต้องรอดูการตัดสินใจของพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ ว่าจะอยู่ร่วมหรือไป นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องรอ ในฐานะที่เป็น 8 พรรคร่วม การตัดสินใจอยู่ที่พรรคก้าวไกลว่าเขาจะมีท่าทีอย่างไร เมื่อถามยํ้าว่า จะไม่ปล่อยมือพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่
เมื่อถามว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป ต้องเป็นของพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันของ 8 พรรคร่วม ยังฟันธงไม่ได้
เมื่อถามถึงกระแสข่าว หากพรรคเพื่อไทยยังจับมือกับพรรคก้าวไกล สว.ก็จะไม่โหวตให้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นแค่กระแสข่าว ต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ เมื่อถามย้ำว่าหากคะแนนเสียงไม่ผ่าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราคงไม่รอให้มติออกมาเป็นอย่างนั้น ถ้าไปรอมติตรงนั้นเราก็แพ้อย่างเดียว เมื่อถามอีกว่า แสดงว่าพรรคเพื่อไทยมีแผนในการเดินหน้าขอเสียงจาก สว.เพิ่ม ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ยังครับ”
เมื่อถามว่า เหตุใดจึงมีความมั่นใจ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ด้วยหลักการ ถ้าเราจะชนะ กำลังเราต้องเต็มร้อย หรืออย่างน้อยก็ต้อง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามีกำลังพอ เขาก็แพ้ ไม่ว่าใครเจอสถานการณ์เช่นนี้ก็ต้องคิดหนัก ต้องสร้างมั่นใจก่อนไปรบ ว่าจะมีโอกาสชนะอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องถึงขั้นพลิกขั้วหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่คิด เมื่อถามยํ้าว่า หลักการที่จะเอาชนะ คือมีพรรคก้าวไกลร่วมด้วยใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีหรือไม่ แต่ขณะนี้ เรายังมี 8 พรรคร่วม
เมื่อถามถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า ขอให้พรรคก้าวไกลลดเพดานการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อยอมให้สว. โหวตให้ หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า นายสุทินเพียงแค่ตอบคำถามตามหลักการ แต่โดยข้อเท็จจริงเราก็ฟังกันชัดเจน ตนสงสารพรรคก้าวไกล ที่ประเด็นเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องมาตรา 112 พรรคเพื่อไทยไม่เคยคิดที่จะไปก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคร่วมก็จริง แต่เราไม่มีสิทธิ์ไปบอกให้ลดเงื่อนไขอะไรใดๆ อยู่ที่การตัดสินใจของเขา เมื่อถามอีกว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำ คิดอย่างไรกับกรณีดังกล่าว นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตนไม่อยากตอบ เอาเป็นว่าให้เหตุการณ์ไปถึงตรงนั้นก่อน เราจึงจะบอกวิธีคิดได้ เมื่อถามว่า ต้องมีการพูดคุยกับสว. ก่อนวันที่ 27 ก.ค. ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ยัง รอให้มีความชัดเจนก่อน ว่าพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแท้จริงก่อน จึงจะค่อยดำเนินการ ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเสนอชื่อในวันที่ 27 ก.ค. ส่วนตัวจะเสนอชื่อใคร หรือใครเป็นผู้เสนอ อยู่ที่การพูดคุยในช่วงนี้ ซึ่งเรามีเวลาจำกัด
เมื่อถามว่า มีการมองว่า 8 พรรคร่วม ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ตั้งแต่การเลือกประธานสภาฯ แล้ว นพ.ชลน่าน กล่าวว่าแล้วแต่มุมมอง เราจะไปสรุปว่าผิดหรือไม่นั้น ต้องดูข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเอาเหตุการณ์ไหนมาวัดก็ว่าเป็นเรื่องๆ ไป ถ้าไปสรุปว่าผิดหรือไม่ผิดก็ไม่ได้ เพราะมุมมองของแต่ละคนต่างกัน ความเห็นต่างเป็นสีสันของระบอบประชาธิปไตย
เมื่อถามย้ำว่า แต่ความเห็นดังกล่าว มาจากฝ่ายของแปดพรรคร่วมด้วยกันเอง นพ.ชลน่านกล่าวว่า “ก็ 8 พรรคเราแพ้ไง ถ้าเราชนะเขาก็บอกว่าติดถูก”