กรมการจัดหางานเน้นย้ำให้คนต่างด้าวที่ยังยื่นเอกสารหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่ครบถ้วนเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 กรกฎาคม 2566 มิเช่นนั้นจะไม่สามารถอยู่ต่อและทำงานภายในราชอาณาจักรต่อไปได้อีก

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เห็นชอบให้คนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เอกสารประจำตัวและหลักฐานการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่ครบถ้วน สามารถอยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เพื่อดำเนินการเตรียมเอกสารและหลักฐานมายื่นให้กรมการจัดหางานภาย ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้ใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานฉบับเดิมเป็นหลักฐานการผ่อนผัน ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในไทยให้มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลดการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและบริการของประเทศ และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมาย

โดยคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา สามารถรับบริการจัดทำเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Certificate of Identity : CI) ได้จากหน่วยบริการเคลื่อนที่เมียนมา (โมบายทีม) ในจังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชำระเงินค่าจัดทำ CI ได้ที่ Counter Service ส่วนคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และสัญชาติลาว สามารถกลับไปจัดทำหนังสือเดินทางได้ที่ประเทศต้นทาง โดยขอรับเอกสารเพื่อการเดินทางกลับประเทศได้ที่ สถานทูตกัมพูชา และสถานทูตลาวประจำประเทศไทย เมื่อคนต่างด้าวได้รับหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแล้ว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

ทั้งนี้ขอให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ยื่นเอกสารหลักหลักฐาน เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้นจะไม่สามารถอยู่ต่อและทำงานภายในราชอาณาจักรต่อไปได้อีก ซึ่งกรมการจัดหางานจะตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั้งนายจ้างคนไทยและลูกจ้างคนต่างด้าว โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ  และนายจ้างซึ่งรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน กรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามนายจ้างจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ โดยหากมีข้อขัดข้องให้ติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10