เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "สภาวการณ์การศึกษา ปี 2566 ครั้งที่ 4 ภาคใต้ โดยมี นางศิริพร ศริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินและการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นางขนิษฐา ห้านิรัติศัย อดีตผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผู้บริหารการศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้แทนหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กว่า 100 คน ณ โรงแรม เดอะ บริษา บีช รีสอร์ท เขาหลัก จังหวัดพังงา
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุค BANI World ซึ่งเป็นโลกที่เปราะบางมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาสามารถดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการกำหนดนโยบายทางการศึกษาที่มีคุณภาพ รองรับ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นจากการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาที่ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายทางการศึกษา สำหรับการจัดทำสภาวการณ์การศึกษา ปี พ.ศ.2566 ต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากอดีตและปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาพยากรณ์และกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาในอนาคต โดยกำหนดจุดเน้นที่การศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลแบบ Bottom Up เป็นการเก็บข้อมูลจากส่วนภูมิภาคและนำข้อมูลไปสู่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษากับทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ สามารถสะท้อนข้อมูลจากผู้ปฏิบัติและบริบทพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
"สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีเกาะจำนวนมาก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องวิเคราะห์ว่าในการพัฒนาการศึกษาสามารถตอบโจทย์บริบทพื้นที่ได้อย่างไร อาทิ การวางแผนและพัฒนาการเกษตรที่ไม่ใช่เป็นการเกษตรแบบเดิม แต่เป็นการเกษตรที่เป็น Smart Farming การเกษตรอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการระบบการเพาะปลูกในทุก ๆ ขั้นตอน และสามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยเทคโนโลยี ในส่วนการท่องเที่ยวต้องตอบโจทย์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ยกระดับธุรกิจการบริหารให้ประทับใจ ทำให้คนจากทั่วทุกมุมโลกอยากมาเที่ยว ทั้งนี้ สกศ. จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และนำไปสู่การจัดทำแผนการศึกษาในอนาคตต่อไป" เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว
ด้าน นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ในฐานะองค์กรหลักในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษา มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา ซึ่งจะเน้นศึกษา วิเคราะห์ ติดตามความเคลื่อนไหว และรายงานสภาวการณ์ด้านการศึกษาของประเทศ รวมทั้งพยากรณ์แนวทางและทิศทางการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบ และรายงานสมรรถนะด้านการศึกษาของประเทศไทยในระดับนานาชาติ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งยังรองรับสภาวการณ์และความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในระหว่างวันที่ 17 - 19 กรกฎาคม 2566 มีการลงพื้นศึกษาดูงานที่สถานศึกษา 3 แห่ง ที่จังหวัดพังงา เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านสภาวการณ์ทางการศึกษา ได้แก่ 1) โรงเรียนเกาะปันหยี 2) โรงเรียนชาวไทยใหม่ (โดม-ทักษิณอนุสรณ์) และ 3) วิทยาลัยการอาชีพท้ายเหมือง สำหรับ การจัดประชุมและลงพื้นที่ศึกษาดูงานครั้งนี้ จัดโดยสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูล ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะทุกประเด็นที่ได้รับเพื่อนำไปวิเคราะห์ และใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาการศึกษาต่อไป