“ไข่ไก่” ปรับราคาขึ้นเมื่อไหร่ผู้ผลิตก็ต้องอดทนกับเสียงบ่นดังๆ ของผู้บริโภคทุกครั้ง แต่เวลาราคาปรับลงกลับเงียบกริบ เป็นแบบนี้มาโดยตลอด เพราะในมุมของผู้บริโภคไข่ต้องราคาถูกเท่านั้น เข้าถึงได้ง่ายที่สุด และกินง่ายที่สุด โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงหรือปัจจัยใดๆที่มีผลต่อการผลิต ทั้งที่ไข่ไก่ เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง มีสารอาหารครบถ้วนเมื่อเทียบอาหารโปรตีนชนิดอื่นที่มีราคาสูงกว่ามาก ทั้งที่ต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งการป้องกันโรค วัตถุดิบอาหารสัตว์ และค่าแรงงาน เป็นต้น และราคาที่มีการปรับไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อยู่ที่ฟองละ 4 บาท ก็เป็นราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ไข่ไก่ไทย
ตั้งแต่ต้นปี 2566 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มมีการปรับขึ้นและปรับลงหลายครั้งเฉลี่ยแต่ละครั้ง คือ 10-20 สตางค์ต่อฟอง จากราคา 3 บาท เป็น 4 บาทในขณะนี้และเป็นการปรับสูงสุดในรอบ 50 ปี จากเหตุผลหลัก คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์และต้นทุนพลังงาน สืบเนื่องมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้นตามวัตถุดิบที่ใช้ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาปรับขึ้นประมาณ 30% ทำราคาสูงสุดที่ 13.75 บาทต่อกิโลกรัม และยังคงยืนอยู่ในระดับสูงในปัจจุบันที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม จากอดีตราคาสูงสุดไม่เคยเกิน 10 บาทต่อกิโลกรัม
รายงานของราโบแบงก์ (Rabobank) ผู้นำบริการทางการเงินระดับโลก เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า ราคาไข่ไก่โลกช่วงไตรมาสแรกปีนี้เป็นราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี จากปัจจัยผลกระทบของโรคระบาดไข้หวัดนก และต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลกระทบต่อซัพพลายไข่ไก่ทั่วโลก โดยเฉพาะราคาไข่ไก่สูงขึ้นมากในตลาดที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างหนัก และราคาในปี 2566 เพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปี 2565
จากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น ทำให้ไข่ไก่ในหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป บราซิล เม็กซิโก สหรัฐ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์ มีสถานการณ์ราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ อิทธิพลของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งคิดเป็น 60-70% ของต้นทุนการผลิตไข่ มีราคาสูงขึ้นและยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตและราคาไข่ไก่ ตลอดจนการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ เป็นอุปสรรคใหญ่ในการผลิตไข่ไก่
สำหรับการผลิตไข่ไก่ของไทยจากแม่ไก่ไข่ประมาณ 52 ล้านตัว ได้ผลผลิต 43 ล้านฟองต่อวัน เพื่อสนับสนุนการบริโภคในประเทศที่มีประมาณ 41.5 ล้านฟอง ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออก
ประเทศไทยนับว่าโชดดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีไข่ไก่เพียงพอต่อการบริโภค ในราคาที่เข้าถึงได้ ไม่แพงจนเกินไป และหาซื้อได้ทั่วไปโดยไม่จำกัดปริมาณ ต่างจากหลายประเทศที่ยังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก ทำให้มีไข่ไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งไทยในฐานะมิตรประเทศได้ส่งไข่ไก่ไปช่วยเหลือไต้หวันและญี่ปุ่น เพื่อแก้ปัญหาไข่ขาดแคลนอย่างหนักจนต้องมีการจำกัดปริมาณการซื้อ ล่าสุดหน่วยงานของรัฐบาลไต้หวัน ยืนยันว่าจะยังคงนำเข้าไข่ไก่จากไทยไปจนถึงปี 2567
เห็นได้ว่าไทยยังอยู่ในสถานะอาหารมั่นคง ประชาชนเข้าถึงไข่ไก่ได้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสมและไม่ขาดแคลน ผู้ผลิตก็มีกำลังใจที่จะผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อไหร่ที่กลไกตลาดถูกบิดเบือน กดราคาไข่จนต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ผู้เลี้ยงอยู่ในภาวะขาดทุน อาจทำให้ไข่ที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดหายไปจากตลาดและมีราคาสูงมาก กลายเป็นอาหารหายาก..เชื่อเถอะว่าไข่ไทยราคาไม่แพง และเมื่อใดที่ต้นทุนการผลิตลดลง ราคาไข่ไก่จะปรับลดลงตามกลไกตลาด เมื่อนั้นช่วยออกมาส่งเสียงดังๆ ว่า “ไข่ถูกมีจริง”
โดย : แทนขวัญ มั่นธรรมะ นักวิชาการอิสระ