นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เผยแนวปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต(ศปท.กทม.)มีมติเพิ่มเติมแนวปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจสั่งพักราชการ หรือใช้ดุลพินิจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยยึดหลักกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร(ก.ก.) ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 ข้อ 85 และข้อ 91 มีสาระสำคัญให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุสามารถสั่งให้ออกราชการ หรือพักราชการ ดังนี้ 1.ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวน และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุพิจารณาเห็นว่าหากอยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ

2.ผู้นั้นถูกฟ้องคดีอาญา มีพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ โดยพนักงานอัยการมิได้รับเป็นทนายแก้ต่างให้ และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุพิจารณาเห็นว่า ถ้าผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ 3.ผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่แสดงว่า ถ้าคงอยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น 4.ผู้นั้นอยู่ในระหว่างถูกคุมขังเกินกว่า 15 วัน 5.ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนและต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญา  ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุจะสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนก็ได้ หรือในกรณีสั่งพักราชการไว้แล้ว จะพิจารณาสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแทนการสั่งพักราชการได้

นายขจิต กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการใช้ดุลพินิจมี 3 ขั้นตอน คือ 1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ 2.นำข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้วมาปรับเข้ากับตัวบทกฎหมาย 3.ต้องกระทำการตามที่กฎ ก.ก. ข้อ 85 หรือข้อ 91 กำหนด โดยให้รายงานความคืบหน้าและการดำเนินการต่าง ๆ แก่ ศปท.กทม.ภายใน 7 วัน และรายงานการสอบสวนทุก 30 วัน หากตรวจสอบแล้วไม่มีมูลกรณีกระทำผิดให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการดังเดิม อย่างไรก็ตาม หากมีกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต และนำหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งประจำสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร มาตรการสั่งย้ายหรือสั่งช่วยราชการ สั่งพักราชการ หรือสั่งออกจากราชการไว้ก่อนมาใช้บังคับ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่มีมูลกรณีกระทำผิดให้ยกเลิกคำสั่งนั้น ๆ และให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการยังตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมต่อไป