เปิดประวัติ “พิธา” หลังศาลรัฐธรรมนูญ 7 ต่อ 2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ทันที

 

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมประจำสัปดาห์ วาระพิจารณาคำร้องกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ( 6 ) ประกอบมาตรา 98 ( 3) หรือไม่นั้น รวมทั้งคำขอให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ภายหลังการประชุมนาน 2 ชั่วโมง ศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุม ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา101(6)ประกอบมาตรา 98 (3)หรือไม่จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบวรรคหนึ่ง และพ.ร.ปว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 75 โดยให้นายพิธาผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้เข้ากล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54

สำหรับคำขอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายพิธาอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้จึงมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ก.ค.66 ที่ประชุม กกต.มีมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 เห็นว่ากรณีมีหลักฐานปรากฏว่านายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดในวันสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.สของนายพิธาสิ้นสุดลง จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และได้มีการยื่นคำร้องในบ่ายวันเดียวกัน

ประวัตินายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เกิด 5 กันยายน พ.ศ.2523 ชื่อเล่น ทิม เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย หัวหน้าพรรคก้าวไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เดิมสังกัดพรรคอนาคตใหม่ จากการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ.2562 เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองจากการอภิปรายนโยบายทางการเกษตร "ปัญหากระดุม 5 เม็ด" ภายใต้รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 2 คนของพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ และยังมีศักดิ์เป็นหลานลุงของผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และตามใจ ขำภโต อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดา โดยมีน้องชาย 1 คนคือ ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา เข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ด้วยนิสัยเกเรของเขา พงษ์ศักดิ์ ผู้เป็นบิดา ส่งพิธาไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์เมื่ออายุ 11 ปี ในเมืองฮามิลตันและอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่ซึ่งพิธาจะเริ่มสนใจการเมืองจากแม่บ้านที่มักรับชมการอภิปรายสภาอยู่ตลอด นอกจากการศึกษาในโรงเรียน พิธาทำงานพิเศษเพื่อหาเงินใช้จากการปั่นจักรยานส่งหนังสือพิมพ์ เก็บสตรอว์เบอร์รี และรับจ้างพาสุนัขเดินเล่น เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา พิธาเข้าศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการเงิน (ภาคภาษาอังกฤษ) จบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากนั้นเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่ คณะการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ควบคู่กับการบริหารธุรกิจที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ อย่างไรก็ตาม หลังการเสียชีวิตของบิดาด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด พิธาตัดสินใจพักการศึกษาและกลับมาประเทศไทยเพื่อดูแลธุรกิจที่เป็นหนี้ต่อ

งานการเมือง พิธาก้าวเข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ต่อมาพิธาสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคในลำดับที่ 4 และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งแรกที่ลงรับเลือกตั้ง โดยพิธาได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.62 พิธาอภิปรายครั้งแรกในสภาประเด็นนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาลประยุทธ์ โดยเฉพาะ "ปัญหากระดุม 5 เม็ด" ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิธาเสนอการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรด้วยการติดกระดุม 5 เม็ด: ที่ดิน, หนี้สินการเกษตร, สารเคมีและการประกันราคาพืชผล, การแปรรูปและนวัตกรรม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จากการอภิปรายดังกล่าวของเขา พล.อ.นุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวชื่นชมการอภิปรายของพิธาว่า พูดถึงเรื่องปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ และเรื่องที่ดินได้เข้าประเด็น

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 ก.พ.63 ต่อมาในวันที่ 8 มี.ค.63 พิธา ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกลร่วมกับอดีตสมาชิกพรรคอีก 54 คน โดย พิธาได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ในวันที่ 18 พ.ค.66 พิธาพร้อมพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย และพรรคประชาชาติ แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเขา โดยทุกพรรคพร้อมสนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้ตั้งรัฐบาลในการเมืองไทย พรรคร่วมรัฐบาลของพิธาจัดงานแถลงข่าวอีกครั้งเพื่อเปิดบันทึกความเข้าใจแก่สาธารณชนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ในบันทึกความเข้าใจมีการบรรจุประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ, สมรสเท่าเทียม, การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ, การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ, การกระจายอำนาจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น

ชีวิตส่วนตัว พิธา เคยสมรสกับชุติมา ทีปะนาถ นักแสดง สมรสเมื่อปี 2555 และหย่าร้างเมื่อปี 2561 มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คนคือ พิพิม ทั้งสองมีสิทธิดูแลลูกเท่ากัน