วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 3 ประจำปี 2566 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ร่วมประชุม

 

นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบการดำเนินการของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับดินที่ได้จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ว่า เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเป็นโครงสร้างผสมระหว่างโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินและโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ มีระยะทางรวม 23.63 กิโลเมตร (โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร) โดยจะมีดินที่ได้จากการขุดก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวจำนวนมาก ถือว่าเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่ามีการดำเนินการเกี่ยวกับดินที่ได้จากโครงการก่อสร้างดังกล่าวอย่างไร และมีการตรวจสอบควบคุมหรือไม่ อย่างไรเพราะตนเคยถามฝ่ายบริหาร กทม.แล้ว ได้รับคำตอบว่า ดินส่วนหนึ่งนำไปถมตลาดบางแคภิรมย์ แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่มี

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ทำการสำรวจปริมาณดินที่ต้องขุดออกในแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) แบ่งเป็น ปริมาณดินดี 1,250,440.04 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปริมาณดินปนเปื้อน 1,015,750.88 ลบ.ม. โดยสำนักการโยธา (สนย.) ได้ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ของกทม.ให้แจ้งความประสงค์การใช้ดิน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบรับจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม สนย.มีแผนจัดส่งดินให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ขอมา โดยกำหนดระยะไม่เกิน 30 กิโลเมตร จากสถานที่ก่อสร้างส่วนที่เหลือจะทำการจำหน่ายให้กับบริษัทผู้รับจ้างของ รฟม. โดยวิธีเจาะจงในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเคยได้มีการจำหน่ายดินของงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มโดยราคาดินดี อัตรา 21.66 บาท/ลบ.ม. ราคาดินปนเปื้อนราคา 17.70 บาท/ลบ.ม. ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานราชการใดแสดงความจำนงรับดิน