เมื่อเวลา 08.20 น. วันที่ 19 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงจุดยืนการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่สองในวันนี้ ว่า จุดยืนยังคงเหมือนเดิมทุกอย่าง เรามีหน้าที่ที่ต้องคำนึงถึงความสำคัญของประเทศชาติเป็นหลัก ทางกลุ่มสว.ได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นแล้ว ว่าจะขอประเทศไทยคืน พร้อมกล่าวต่อว่า เราไม่ต้องการเปลี่ยนประเทศไทย และขอลูกหลานของเราคืนกลับมาอยู่ในอ้อมกอดของพ่อและแม่ ภายใต้วัฒนธรรมประเพณีไทย สำหรับวิธีการ เราต้องให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้วัฒนธรรม และประเพณีไทย ด้วยการปลูกฝังในการศึกษาให้เหมือนในรุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยที่ลูกหลานของเราจะต้องเป็นคนดีกลับมาให้ได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การทวงคืนประเทศเกี่ยวข้องกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ถ้าหากเราเลือกผิดประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม ดังนั้นสิ่งที่สว. จะต้องตัดสินใจคือ จะต้องเอาความถูกต้อง และเปลี่ยนประเทศไทยไปในทางที่ดี ไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่เพิ่มความขัดแย้ง และแบ่งแยกประเทศไทย 

มาถามต่อว่า จุดยืนของกลุ่มสว. ยังยืนยันที่จะงดออกเสียงให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า “ เอาอย่างนี้นะครับ วันนี้จะมีโหวตหรือเปล่า ถ้าหากว่ามีขอให้สังเกตไว้เลยว่า จากที่มีการงดออกเสียง วันนี้ประกาศได้เลยว่า จะไม่เห็นชอบ” พร้อมกล่าวต่อว่า คาดว่าการงดออกเสียงจะเกิดขึ้นทั้งหมด 

เมื่อถามว่า การยกระดับของสว. ครั้งนี้ จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวภายนอกสภาฯ หรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนเองไม่ได้มีความหนักใจแต่อย่างใด การที่เราจะตัดสินใจ มีความขัดแย้งอยู่แล้ว จะมากหรือน้อย ยึดเอาชาติศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นหลัก ถ้าหากจะเกิดความขัดแย้ง ขอให้เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง

เมื่อถามอีกว่า การไม่ยอมเปลี่ยนประเทศ คือการสนับสนุนรัฐบาลขั้วเดิมใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ไม่ใช่ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคใดจะไปรวบรวมเสียง และเสนอใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี “กิตติศักดิ์ชัดเจนมาโดยตลอดว่า ไม่เคยก้าวก่ายตรงนั้น แต่หากมีการเสนอแคนดิเดตนายกฯขึ้นมา สว. จะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในการเลือก และพิจารณานายกรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนใครจะตั้งรัฐบาลกับใคร สว. ไม่ก้าวก่าย”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากวันนี้มีการเสนอชื่อแคนดิเดต นายกฯ จากพรรคอื่น เช่นนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย (พท.) จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวยืนยันว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลด้วย หากยังรวมกัน 8 พรรคเดิม แม้จะไม่มีชื่อของนายพิธาแล้ว ก็ยังยืนยันว่าจะไม่โหวตเช่นเดิม

เมื่อถามว่า หากไม่ก้าวก่ายการจัดตั้งรัฐบาล เหตุใดจึงกำหนดเงื่อนไขในการโหวตเลือกนายกฯ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า เป็นสิทธิของส.ว. แต่เรามองประเทศชาติเป็นหลัก โดยเห็นว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม เกิดความขัดแย้ง และหากเราปล่อยไป ความแตกแยกทะเลาะเบาะแว้งที่ไม่เคยเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อถามต่อว่า ไม่ได้รับใบสั่งมาจากใครใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ใครจะมาสั่งสว. เมื่อถามอีกว่า การกำหนดให้พรรคก้าวไกลจะต้องไปเป็นฝ่ายค้าน เท่ากับเป็นการแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลด้วยหรือไม่นายกิตติศักดิ์กล่าวว่าตนไม่ได้พูดเช่นนั้น พรรคก้าวไกลจะไปอยู่ตรงไหนก็ตาม แต่การจัดตั้งรัฐบาลยืนยันว่าจะต้องไม่มีพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการตัดสินใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 หากพรรคการเมืองสามารถรวบรวมเสียงได้ 376 เสียง สว.ก็อยู่สบายๆและทำงานอื่นไป แต่เมื่อไม่สามารถรวมได้ 376 เสียง สว.ก็จะใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ก็ให้ไปรวบรวมกันให้ได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การที่สว. ทำในลักษณะนี้ จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่ยาวขึ้นหรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศวางมือไปแล้วใครจะเสนอพล.อ.ประยุทธ์ มาอีก ก็ไม่ได้ ส่วนการรักษาการนายกรัฐมนตรีนานขึ้นนั้น เรื่องของพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง หากไม่สามารถตกลงกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ต่อตามรัฐธรรมนูญ

“การแก้ในวาระแรกของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ต้องมีฝ่ายค้าน ตอนนี้ขอถามสื่อว่า เรามีฝ่ายค้านหรือยัง และในวาระสาม ต้องได้เสียงสว. อย่างน้อย 84 คน แต่การเลือกนายกฯ คุณพิธายังได้แค่ 13 เสียง แล้วจะไปแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 จะไปเอาคะแนนจากไหน เรายืนยันว่า เรามาตามบทเฉพาะกาล เดือนพ.ค. 67 เราก็หมดหน้าที่แล้ว ไม่ทราบว่าทำไมถึงมาทำเรื่องนี้ ไม่ไปสนใจเรื่องปากท้อง ทำไมไม่ไปทำเรื่องเศรษฐกิจ ตนมองว่านอกจากไม่ได้สาระแล้วก็เป็นเรื่องของเด็กๆ ที่เกเร”