วันที่ 18 ก.ค.66 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า ...

เอลนีโญเริ่มส่งผลไปทั่วโลก อุณหภูมิที่ Furnace Creek เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สูงถึง 53.33 องศา

Furnace Creek อยู่ที่ Death Valley, California ผมเคยไปที่นั่น จึงนำมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง

บริเวณนี้เป็นจุดร้อนสุดของอเมริกา ยังเป็นจุดแห้งแล้งสุดและจุดต่ำสุด (ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 86 เมตร)

Furnace แปลว่าเตาหลอม แค่ชื่อคงบอกได้ว่าร้อนแรงขนาดไหน

รอบด้านหาต้นไม้แทบไม่เจอ มีแต่ที่คนปลูกไว้ ภูเขาหินสีสันแปลกประหลาด ทะเลสาบเกลือแห้งผาก มีแม้กระทั่งหินเดินได้ (sailing rocks

ภาพในเมนต์)

ช่วงที่ผมไป สิ้นเดือนมิถุนายน เมื่อ 5 ปีก่อน อุณหภูมิ 108 องศา (ฟาเรนไฮน์) ผมถ่ายภาพมาพอดี

แต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา อุณหภูมิขึ้นไปถึง 128 องศา ต่างกัน 20 องศาฟาเรนไฮน์ ทั้งที่เป็นช่วงเดียวกันของปี (ในป้ายขึ้นถึง 130 องศาแต่ไม่เป็นทางการ)

เอลนีโญบวกโลกร้อนทำให้เกิดความต่างขนาดนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่า สถิติร้อนสุดอาจถูกทำลายในอีกไม่นาน

ตอนที่ผมไป เวลาเราจะไปเดินเที่ยว จะมีป้ายบอกบางเส้นทางว่าอย่าเข้าไป ร้อนมากอาจเจอฮีทสโตรค หลัง 10 โมงเช้าไม่แนะนำให้เดิน

ตอนนี้ถึงขั้นปิดเส้นทาง ไม่อนุญาตให้เดิน

ผลกระทบของเอลนีโญทำให้เกิดความปั่นป่วน หลายที่ร้อนจัด เกิด extreme heatwave ในอเมริกาและยุโรปใต้

อุณหภูมิที่อิตาลี/สเปนบางแห่งสูงถึง 40 องศา ไฟป่าในกรีกเริ่มใกล้กรุงเอเธนส์

ในหนึ่งสัปดาห์ ยุโรปใต้เจอ 2 ฮีทเวฟ Cerberus เพิ่งผ่านไป Charon กำลังมา (heatwave มีชื่อด้วยครับ)

กรุงเทพเย็นกว่ากรุงโรม พูดแบบนี้เมื่อ 30–40 ปีก่อน คนได้ยินคงหัวเราะก๊าก แต่ตอนนี้คือเรื่องจริง ที่โรมบ่ายนี้อาจถึง 40 องศา

ในตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อุณหภูมิทำลายสถิติที่ 52.2 องศา

ขณะที่บางแห่งร้อน บางแห่งกลับมีฝนตกหนัก เช่น เกาหลี จีน อเมริกาในบางรัฐ สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

อย่าลืมว่าเราเพิ่งเข้าเอลนีโญ ช่วงนี้แค่ระดับ weak to moderate ช่วงพีคจะมาปลายปี/ต้นปีหน้า

คณะประมงกำลังทำโครงการในทะเล EEC เท่าที่ทำได้ เพื่อเรียนรู้และเตรียมรับมือไว้

จะมารายงานเพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ครับ

 

 

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat