เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 18 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ วุฒิสภา (ส.ว.) พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และ 10 พรรคขั้วรัฐบาลเดิม ที่มีประเด็นสำคัญคือจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภา วาระโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่2 วันที่19ก.ค.นี้ ได้หรือไม่ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีความเห็นที่แตกต่างว่า จะต้องวินิจฉัยตามข้อบังคับฯที่41 หรือไม่ หรือจะวินิจฉัยตามข้อบังคับรัฐสภาว่าด้วยการเลือกนายกฯหมวด9 ที่ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ดังนั้น จะขึ้นอยู่กับการประชุมวันที่ 19 ก.ค.ที่จะต้องดูหน้างาน และฟังเสียงของสมาชิก
เมื่อถามว่า จะต้องมีการขอมติที่ประชุมใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธานจะชี้ขาดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำอภิปรายอย่างครบถ้วนของสมาชิก ก่อนที่จะสรุปแล้วมีคำวินิจฉัย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด ต้องรอการอภิปรายในที่ประชุมพรุ่งนี้ คาดว่าคงจะอภิปรายไม่ยาวจนเกินไป ซึ่งในที่ประชุมวิป3ฝ่ายก็มีการเสนอให้มีการอภิปรายเป็นเวลา2ชั่วโมงน่าจะเหมาะสม
เมื่อถามว่าท้ายที่สุดจะต้องมีการลงมติ หรือใช้คำวินิจฉัยของประธานตัดสินได้เลย นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลหน้างาน ว่าตรงตามที่คิดว่าจะต้องให้ประธานวินิจฉัย หรือจะมีการลงมติ
เมื่อถามถึงข้อเสนอการงดเว้นใช้ข้อบังคับ จะเป็นแนวทางหนึ่งหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ ต้องมีการเสนอ และมีมติที่ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งในที่ประชุมวิป3ฝ่ายไม่มีใครพูดถึง เพราะหากยกเว้นข้อบังคับแล้ว จะไปใช้ข้อบังคับตรงไหน เพราะการเดินหน้าเลือกนายกฯมีไม่กี่ประเด็น ประเด็นสำคัญคือต้องมีการเลือกนายกฯให้ได้ จึงคิดว่าไม่มีใครเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ
เมื่อถามว่าหากสมาชิกส่วนใหญ่มีการลงมติว่าเป็นญัตติตามข้อบังคับฯที่41 แล้วสามารถเสนอชื่อนายกฯคนอื่นที่ไม่ใช่นายพิธา จะพิจารณาต่อได้เลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ข้อบังคับไม่ได้ห้าม ส่วนจะมีการเสนอชื่อนายกฯคนอื่นที่ไม่ใช่นายพิธาได้เลยหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่ข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม
เมื่อถามว่าหากในวันพรุ่งนี้โหวตไม่ได้ การโหวตครั้งที่3จะเกิดขึ้นเมื่อใด นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องดูหน้างาน ที่ทางรองประธานสภาฯคนที่2 ออกมาระบุจะเป็นวันที่20ก.ค. ก็เป็นการพูดไว้ล่วงหน้า ขณะนี้ประชาชนรอคอย และต้องการได้นายกฯที่ไม่ช้าเกินไป เพื่อจะได้เข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง หลายฝ่ายเรียกร้องให้กระบวนการสภาฯไม่ช้าเกินไป แต่เราสามารถบอกได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด อยู่ที่กระบวนการของสภาฯ
นายวันมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ส.ส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา272 ตัดอำนาจส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีว่า ยังไม่ได้มีการบรรจุในระเบียบวาระ อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่สภาฯ ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ และชื่อผู้เสนอ ซึ่งในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะต้องดำเนินการเลือกนายกฯก่อน เมื่อข้อกฎหมายที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา272 เข้าไปก็ต้องบรรจุ หากเลือกนายกฯจบแล้ว ก็พิจารณาได้เลย แต่ถ้าหากเลือกนายกฯยังไม่จบ กระบวนการบรรจุระเบียบวาระแก้ไขมาตรา272ก็ต้องอยู่ในลำดับคือหลังจากวาระโหวตเลือกนายกฯเพราะวาระโหวตเลือกนายกฯได้เสนอมาก่อน