กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะไทยศึกษา เรียนรู้ นโยบายส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้ และนำมาปรับใช้ในการขับเคลื่อน Soft Power ของไทย เหตุมีความหลากหลายไม่แพ้กันสามารถสอดแทรกอาหารไทย นาฎศิลป์ไทย มวยไทย นวดแผนไทย ผ้าไทย เครื่องหอมและสมุนไพรไทย งานเทศกาลสงกรานต์ ลอยกระทง ทั้งในหนัง ซีรีส์ และร่วมมือกับเกาหลีใต้ในการขับเคลื่อนได้ด้วย
   
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.ชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ถึงนโยบายการส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้ และโอกาสในการขับเคลื่อน Soft Power ของไทย

โดยทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อน Soft power ของเกาหลีใต้ โดยจะเน้นในเรื่องของสื่อและความบันเทิง ทั้งละคร เพลง ต่อมาเป็นเครื่องสำอางและความงาม ที่เป็นเรื่องต่อเนื่องจากละคร ดารา นักร้องที่คนมักจะนิยมเครื่องสำอางและสไตล์การแต่งหน้าแบบเกาหลี จากนั้นเมื่อเสพสื่อประเภทต่างๆแล้ว ก็มาถึงในเรื่องของอาหารที่ถูกสอดแทรกเข้าไป เช่น หมูสามชั้นย่าง ต็อกป็อกกี ไก่ทอด จาจังยอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โซจูและกิมจิ เป็นต้น และสุดท้ายเป็นเรื่องการท่องเที่ยวที่ผลักดันให้สถานที่ถ่ายทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนต้องมาตามรอย

ทั้งนี้ในปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ตั้งเป้าหมายผลักดัน K-conten ออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าผลักดันผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ตลาดสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เช่น การจัดงาน K-Content Expo เร่งขยายศูนย์บริการธุรกิจต่างประเทศของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) เพิ่ม 5 แห่งเป็น 15 แห่งในปี 2566 เพื่อสนับสนุนการขยาย K-content มีแผนการสนับสนุนการ์ตูนบนเว็บ บริการสตรีมมิ่งออนไลน์และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต และมีแผนต่อยอดจากการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ที่มีอิทธิพลในเชิงบวกต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมอื่นๆเช่น สินค้าอาหาร แฟชั่น ความงาม เครื่องใช้ในบ้าน และไอที เช่น การเปิดเผยชื่อสินค้าที่อยู่ในสื่อบันเทิง หรือคอนเสิร์ตต่างๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีนโยบายส่งเสริม Soft Power ในด้านต่างๆได้แก่ การสนับสนุน K-Content ออกสู่ตลาดต่างประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 2566การเพิ่มมูลค่ามรดกทางวัฒนธรรม การขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคโดยวัฒนธรรม การเข้าถึงวัฒนธรรมสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผลักดัน K-Sports รวมทั้งยังมีแผนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัปให้มีความเข้มแข็ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็มีแผนที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในรูปแบบต่างๆเพิ่มขึ้น ทั้งในการพัฒนา.K-content.การท่องเที่ยว และการส่งเสริมวัฒนธรรม โดยตั้งเป้าในปี 2570 จะมีศูนย์บริการธุรกิจในต่างประเทศของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ถึง 50 สาขา ยอดจำหน่ายของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นจาก 137 ล้านล้านวอนในปี 2564 เป็น 200 ล้านล้านวอน ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวที่ได้รับอิทธิพลจาก K-content จะเพิ่มขึ้นจาก 4.66 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีผู้ชื่นชอบกระแส K-Wave เพิ่มเป็น 360 ล้านคนทั่วโลก ขนาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเพิ่มมูลค่าจาก 108 ล้านล้านวอน เป็น 180 ล้านล้านวอน และจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 5 ล้านคน เพิ่มเป็น 30 ล้านคน จะขยายรายการมรดกโลกได้ถึง 65 แห่ง และจะส่งผลดีต่อกระแส Korean wave การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของเกาหลีด้วย และขยายตลาดอุตสาหกรรมกีฬาจาก 5 ล้านล้านวอนถึง 100 ล้านล้านวอน         

นายภูสิตกล่าวว่า จากแนวทางการส่งเสริม Soft Power ของเกาหลีใต้ ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดความต้องการในการบริโภคสินค้าและบริการ และเป็นปัจจัยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งประเทศไทยมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีศักยภาพที่สามารถนำไปใช้เป็น soft power ให้โดดเด่นได้ในหลายสินค้าและบริการ เช่น อาหารไทย นาฎศิลป์ไทย มวยไทย การนวดแผนไทย ผ้าไทย เครื่องหอมและสมุนไพรไทย งานเทศกาลต่างๆ เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง รวมถึงการผลิตภาพยนตร์และซีรีย์ต่างๆที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในหลายประเทศควรที่จะสอดแทรกวัฒนธรรมไทยสินค้าและบริการไทยลงในคอนเทนต์ต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้สินค้าและบริการไทยไปสะดุดสายตาชาวโลกให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ในการส่งเสริมและพัฒนา Soft Power ในระยะแรก อาจจะต้องมีการลงทุนในการสร้างความรับรู้และภาพลักษณ์แก่ผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยภาครัฐควรที่จะมีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ในการส่งเสริม เผยแพร่ และผลักดัน Soft Power ของไทยให้ติดตลาดและเป็นกระแสสากลและเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถผลักดันสินค้าและบริการไทยได้อย่างยั่งยืน และนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป
          
สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ สามารถที่จะร่วมมือกันในหลากหลายรูปแบบ เช่น ระหว่างภาคเอกชนกับเอกชน โดย Soft Power ของไทยมีชื่อเสียงในหลายด้าน เช่น เกม สื่อบันเทิง อาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับตลาดโลก โดยการร่วมมือระหว่างกัน เช่น การร่วมมือกันผลิตคอนเทนต์โดยใช้จุดเด่นจากทั้งสองประเทศมารวมกัน หรือการร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมเพื่อสร้าง New Industry ให้กับไทยได้ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีแผนที่จะจัดงานแสดงสินค้าและบริการ K-EXPO THAILAND 2023 ในเดือนตุลาคม 2566 ที่ประเทศไทย ผ่านการดำเนินงานของ KOCCA ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อผลักดันการส่งเสริม K-Content ในต่างประเทศ จึงจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยและเกาหลีใต้ในการร่วมมือระหว่างกัน และเกาหลีใต้ ยังมีงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Busan Film Festival และงานเกมส์ G-Star ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็มีโอกาสในการเข้าร่วมงาน