เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา เครือข่ายคณะรณรงค์ Respect My Vote นำโดยน.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ และตัวแทนเครือข่ายคณะรณรงค์ Respect My Vote และ น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ ตัวแทนภาคประชาชนร่วม ยื่นหนังสือ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาผ่านนายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมือง และรับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบโหวตเลือกนายกฯพรรคการเมืองเสียงข้างมากเคารพผลการเลือกตั้ง รับฟังเสียงประชาชน จากกรณีเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา มติของรัฐสภาไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 

โดยมีใจความว่า “เรียนประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 114 ได้บัญญัติไว้ว่า ส.ส. และ ส.ว. ยอมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

แต่จากการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 พบว่า ส.ส. และ ส.ว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภาบางส่วน มิได้ถือปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐกำหนด อันจะเห็นได้จากการลงมติสวนทางกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ประชาชนไทยต้องการความเปลี่ยนแปลง และพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด คือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งต่อมาได้จับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน จนมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือ 312 เสียง จาก 500 เสียง

ในสภาวะปกติการที่พรรคการเมืองใดสามารถรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองนั้นยอมมีเสียงที่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยปกติ แต่เนื่องจากบทเฉพาะกาลในมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภาสามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาซิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำให้บรรยากาศทางการเมืองที่ควรจะมีความแน่นอนกลับกลายเป็นความไม่แน่นอน

ในการนี้ เครือข่ายภาคประชาชนที่ประกอบไปด้วย เครือข่ายสมัชชาคน เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลุ่มจับตาการเลือกตัง (We Watch) โครงการอินเทอร์น๊ตเอกฎหมายประชาชน Activist Laboratory Thailand และอื่นๆ ในนามตัวแทนเครือข่ายคณะรณรงค์ Respect My Vote จึงมีข้อเรียกร้องต่อประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภาผ่านไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้

1. ให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับผู้ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยืนยันหลักการเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

2. ให้สมาชิกรัฐสภาหลีกเลี่ยงการลงมติด้วยการ "งดออกเสียง" เนื่องจาก การลงมติดังกล่าวจะเป็นผลให้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรถูกขัดขวาง และถือเป็นการปฏิเสธผลการเลือกตั้ง มีแต่จะทำให้เกิดทางตันทางการเมืองและทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

3. เสียงของสมาชิกวุฒิสภาจะต้องไม่ถูกนำใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองให้มีนายกรัฐมนตรีคนที่ผู้มีอำนาจอยากได้แต่ประเทศไทยต้องมีนายกรัฐมนตรี ตามที่ประชาชนแสดงออกผ่านไปคูหาเลือกตั้ง

4. ขอสมาชิกรัฐสภาทุกท่านช่วยรับฟังความต้องการหรือความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชนด้วยความอดทนอดกลั้น ไม่แสดงท่าทีข่มขู่ คุกคาม หรือแสดงท่าทีเป็นศัตรูกับประชาชน

สุดท้ายนี้ ทางเครือข่ายขอย้ำว่า การยืนยันตามหลักการประซาธิปไตยเสียงข้างมากในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ด้วยการลงคะแนนให้กับผู้ที่ได้เสียงข้างมากให้จัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ แม้ว่า จะมีข้อที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางประการ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่จะต้องผลักดันกันหลังรัฐบาลใหม่แล้ว การจะผ่านกฎหมายไม่ว่าอย่างไรก็จำเป็นจะต้องได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ประเด็นที่เร่งด่วนกับประเทศมากที่สุดในขณะนี้ คือการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีให้อีกฝ่ายไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนอีกฝ่าย แต่หมายถึงการสนับสนุนให้ประเทศกลับสู่แนวทางประชาธิปไตย”

นอกจากนี้  ทางเครือข่าย ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรี

ด้านนายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ กล่าวภายหลังการรับยื่นหนังสือว่า จะรีบดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ และจะนำเรื่องดังกล่าวประธานรัฐสภาโดยเร็วต่อไป