เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 18 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมคณะกรรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายวุฒิสภา , ฝ่าย 8 พรรค และฝ่าย 10 พรรค เพื่อหารือถึงกรอบการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นครั้งที่สอง ในวันที่ 19 ก.ค. โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฏร และประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม และมีตัวแทนจากแต่ละฝ่ายเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นพบว่า ทีมของพรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ได้เดินเข้าห้องประชุม พร้อมกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ที่เป็นตัวแทนกรรมการประสานงานจากฝั่งวุฒิสภา โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าทีมพรรคเพื่อไทย และส.ว. ต่างมีสีหน้ายิ้มแย้ม และเป็นมิตรต่อกัน ซึ่งเมื่อมาถึงหน้าห้องประชุม ส.ว. ได้เดินเข้าห้องประชุมก่อน ขณะที่ทีมพรรคเพื่อไทย ได้ไปเข้าห้องน้ำ และเดินตามเข้าห้องประชุมภายหลัง
โดยนพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า บังเอิญเจอกันในลิฟท์โดยสารเท่านั้น และทักทายกันตามปกติ ไม่มีอะไร
ขณะที่อีก 10 พรรคการเมือง ได้ส่งตัวแทน อาทิ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายอรรถกร ศิริลัทธายร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)
โดยก่อนจะเข้าประชุม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายเอกนัฏ ว่า ตัวแทนพรรคก้าวไกล หรือ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ติดต่อขอคะแนนเสียงมาบ้างหรือไม่ ซึ่งนายเอกนัฐ ตอบทีเล่นทีจริงว่า ขอดูสายที่โทรมาแล้วไม่ได้รับก่อน แล้วจึงบอกว่า "ยังไม่มี บอกให้เขาติดต่อมาหน่อยสิ"
และก่อนการประชุมวิป 3 ฝ่าย จะหารือกันเป็นการภายใน โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวกับที่ประชุมว่า ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้การประชุมเรียบร้อย การประชุมการอภิปราย และการนับคะแนนได้แล้วเสร็จก่อนเวลา ถึง 2 ชั่วโมง เป็นเรื่องที่ดีของการเริ่มประชุมรัฐสภาสมัยนี้ ทั้งนี้ การประชุมไม่เสร็จสิ้นเพราะไม่ได้ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกนายกฯ ทำให้เสร็จสิ้น เพื่อให้มีนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญบริหารประเทศต่อไป จึงนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 19 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ดี ในประเด็นข้อหารือของวิป 3 ฝ่ายวันนี้ ต้องจับตาการยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หารือถึงทางออก ว่าจะดำเนินการอย่างไร กรณีที่ญัตติใดที่เสนอต่อที่ประชุม และถูกโหวตไม่เห็นชอบแล้ว จะนำกลับมาเสนอซ้ำอีกได้หรือไม่ ซึ่งส.ว. มองว่าการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ นั้น คือญัตติที่ถูกตีตกไปแล้ว ดังนั้น หากจะเสนอญัตติโหวตนายกฯ โดยมีชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล อีกอาจจะเป็นปัญหาได้ โดยแนวทางออกของเรื่องนี้ คือการเว้นใช้ข้อบังคับการประชุม ที่ต้องให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาดอีกครั้ง